"ประยุทธ์" ชี้เกษตรเเละการค้าโลกยุคใหม่ คนไทยต้องยึดดิจิทัลไว้วางเเผน

17 มิ.ย. 2561 | 00:05 น.
-17 มิ.ย.2561- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา ”ว่า “ พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ, ภาครัฐเอง ก็พร้อมที่จะสนับสนุนการปรับตัวของพี่น้องประชาชน ในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นทาง ไปจนถึงปลายทาง ทั้งในเรื่องของการวางแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยใช้ Agri-map นะครับ ที่มีทั้งเรื่องน้ำ เรื่องดิน เรื่องความเหมาะสมในการปลูกพืชชนิดต่างๆ นะครับ และมีการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะนำมาใช้ในการผลิต

มีการรวมแปลงเป็นแปลงใหญ่ การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ การช่วยสนับสนุนด้านปุ๋ย และการเก็บเกี่ยว ไปจนถึงการพัฒนาหรือแปรรูปผลผลิต การหาตลาด และ การเชื่อมโยงด้านการขนส่ง ทั้งนี้ก็เพื่อจะลดต้นทุน และย่นระยะเวลา ที่ผลผลิตจะถึงมือผู้บริโภคด้วย นะครับ

ในเรื่องของเงินทุน ภาครัฐก็มีการให้การสนับสนุนในหลายรูปแบบ อาทิ การเข้าถึงสินเชื่อ และเงินอุดหนุน เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีเงินทุน และสภาพคล่องเมื่อประสบปัญหาภัยธรรมชาติ กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ซึ่งมีทุน 2,900 ล้านกว่าบาท มาดำเนินการต่อนะครับ โดยจูงใจให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียน ปลูกพืชผลตามประเภท และปฏิทินที่รัฐแนะนำ

เมื่อเกิดปัญหาในอนาคต ไม่ว่าราคาตกต่ำ หรือเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ก็จะได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนนี้ มาตรการเหล่านี้ จะช่วยลดการเข้าไปอุดหนุนหรือช่วยเหลือเกษตรกร เมื่อประสบปัญหาต่างๆ โดยที่ทางราชการไม่สามารถเข้าไปควบคุม แต่เริ่มแรก

ที่ผ่านมาเราใช้เงินในส่วนนี้ มากกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี แต่การช่วยเหลือตามแนวทางกองทุนนี้ จะประหยัดกว่า และเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน อีกด้วย

นอกจากนี้ กองทุนหมู่บ้าน ทั่วประเทศ 75,000 กว่ากองทุน ตามโครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยศาสตร์พระราชา ตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งบางกองทุนมีการร่วมมือกัน เช่น "โครงการแหล่งท่องเที่ยว อ่างเก็บน้ำ แก้มลิงทุ่งคลองคัน" เกิดจาก 8 กองทุนฯ กองทุนละ 5 แสนบาท รวมแล้วก็ 4 ล้านบาท

เงินก้อนโตขึ้น ก็ลงทุน ทำอะไรได้มากขึ้น เช่น การปรับภูมิทัศน์สวนสาธารณะ อ่างเก็บน้ำ จัดหาแพกลางน้ำ จักรยานน้ำ และ การจัดสรรพื้นที่ให้สมาชิกเช่าเป็นร้านขายสินค้า ร้านอาหารและร้านเครื่องดื่ม เป็นต้น อีกช่องทาง เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของพี่น้องในเศรษฐกิจระดับฐานราก ก็คือ การหาตลาด โดยอาศัยเทคโนโลยี และการเข้าเชื่อมโยงกับ "ห่วงโซ่คุณค่า"

ยกตัวอย่าง Thaitrade.com นะครับ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มค้าออนไลน์ สำหรับ "คนตัวเล็ก" ซึ่งจะช่วยให้คนตัวเล็ก มีโอกาสเติบโตได้ ช่วยให้รายย่อยนำสินค้ามาขายให้กับผู้บริโภค ดึงแบงก์ -โลจิสติกส์ เข้ามาช่วยเรื่องการจ่ายเงิน และการจัดส่งสินค้า

ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการอยู่ เกือบ 25,000 ราย โดยจะผลักดันให้เพิ่มขึ้น เป็น 100,000 ราย ภายใน 3 ปี และเพิ่มมูลค่าการค้าขายผ่านเว็บไซต์ ที่มีอยู่ ปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท เป็น 10,000 ล้านบาท ภายในปีหน้า ซึ่งต่อไป "ช้อปครบ จบในคลิกเดียว" ที่เป็นการขายออนไลน์แบบ B2C หรือ "ธุรกิจถึงผู้บริโภค"

โดยได้รวบรวมสินค้าจากผู้ประกอบการรายย่อยมาให้เลือกซื้อได้ โดยตรง มีระบบการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต - เดบิต ทุกธนาคาร และ ยังมีระบบโลจิสติกส์ หลายรายเข้ามาร่วมในการจัดส่งสินค้า ซึ่งจะทำให้สินค้า จากผู้ประกอบการรายย่อยค้าขายได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เว็บไซต์ค้าขายออนไลน์ จะช่วยให้คนตัวเล็ก อย่างเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย ที่อยู่ห่างไกลได้มีโอกาสในการขายสินค้า แบบออนไลน์ ขจัดข้อจำกัดด้านระยะทางลงไป หลายคนคงได้เห็นตัวอย่างจากประเทศจีนมาบ้างแล้ว ตอนนี้เราได้เริ่มต้นแล้วนะครับ ต่อไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องเข้าไปช่วยขับเคลื่อนทั้งค้นหาสินค้า พัฒนาสินค้าเพื่อนำเข้ามาขายออนไลน์ ให้ได้เพิ่มขึ้นและผมมั่นใจว่า เราจะทำได้สำเร็จเช่นกันนะครับ

สรุปได้ว่า "ดิจิทัล" เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับโลกในอนาคต เป็นที่มาของนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" ส่วนในด้านการตลาด นอกจากตลาดประชารัฐแล้ว การจัดงานนิทรรศการระดับชาติ ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่ส่งเสริมการขาย การเข้าถึงสินค้า การจับคู่ทางธุรกิจ เป็นต้น

โดยงาน OTOP Midyear 2018 ภายใต้ธีมงาน "เอกลักษณ์จากเสน่ห์วิถีไทยนิยม" ระหว่างวันที่ 9 - 17 มิถุนายนนี้ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ก็เป็นอีกโครงการที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจมหภาค

รวมทั้งการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้กับพี่น้องประชาชน โดยการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ให้สามารถพัฒนา และยกระดับ ผลิตภัณฑ์ การบริการ ให้มีมาตรฐาน และเข้าสู่การแข่งขันในตลาดได้ อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งตลาดท้องถิ่น - ตลาดภูมิภาค - ตลาดต่างประเทศ - และ ตลาดออนไลน์หรือ การซื้อขายผ่านระบบ e-Commerce ที่เป็นเทรนใหม่ในปัจจุบัน

ซึ่งรัฐบาลนี้ เข้าไปสนับสนุนในกลไกระดับชาติ เพื่อให้เกิดการบูรณาการกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง อย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2546 - 2557 มีสถิติการเติบโตเฉลี่ย ราวร้อยละ 11 แต่เมื่อรัฐบาลนี้ เข้ามาบริหารจัดการใหม่ สนับสนุนอย่างเต็มที่ ช่วยให้อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น "อย่างก้าวกระโดด" ในระดับร้อยละ 22 ในปีที่ผ่านมา

มียอดการจำหน่าย มากกว่า 153,000 ล้านบาท เฉพาะช่วงแรกของปีนี้นะครับ มียอดการจำหน่าย มากกว่า 116,000 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากปีที่แล้ว ซึ่งย่อมจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจฐานราก มีการกระจายตัวของรายได้มากขึ้น อีกด้วย

ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และผู้ที่สนใจช่วยอุดหนุนสินค้าพื้นบ้าน - ภูมิปัญญาท้องถิ่น - งานฝีมือของคนไทยด้วยนะครับ ทราบว่า 4 วันแรกของงาน มียอดการจำหน่ายสินค้า กว่า 500 ล้านบาทมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 170,000 คน แล้วนะครับ ก็น่าดีใจนะครับแทนผู้ผลิตของเราจริงๆ

ผู้ผลิตบางส่วน อาจยังไม่มีนามบัตรใช้ ก็ทำให้การทำการติดต่อซื้อขายในอนาคตติดขัด ผมก็ขอแนะนำเพิ่มเติมว่า ท่านสามารถปรับตัว ไปใช้ LINE ใช้ QR Code ก็ได้นะครับ จะได้ติดต่อธุรกิจกันได้อย่างเนื่อง ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดในโลก เพราะเป็นยุค "ไทยแลนด์ 4.0" แล้ว

ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่เรากำลังพัฒนาอยู่ทั้งสิ้น ผมขอฝากพี่น้อง ข้าราชการในพื้นที่นะครับ ทั้งส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น จะต้องรู้ทั้งหมดที่ผมพูดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานี้ว่ารัฐบาลทำอะไรไปบ้าง ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่งานของตัวเองก็ตาม ทั้งนี้พวกท่านจะได้ใช้โอกาสไปสร้างความเข้าใจเวลาชาวบ้านถาม

ไม่ใช่เกษตรก็ตอบได้แต่เกษตร พาณิชย์ก็ตอบได้แต่ค้าขาย ไม่ใช่ ทุกคนต้องรู้ในลักษณะของการบูรณาการว่ารัฐบาลได้ทำอะไรไปแล้ว แล้วจะเชื่อมกันอยู่ตรงไหน ประชาชนจะเข้าได้ช่องทางไหนนะครับ อาทิ เช่นในช่วงที่เรามีการตั้งราคากลางข้าว สมมตินะครับ

เพราะฉะนั้นประชาชนต้องรู้ว่า ข้าวหอมมะลิเป็นยังไง ข้าวขาวเท่าไหร่ ข้าวเหนียวเท่าไหร่ เพื่อเกษตรกรได้ตัดสินใจเองว่า เอ๊ะเขาจะขายดีหรือไม่ ถ้าราคามันยังต่ำ เขาก็ไปจำนำยุ้งฉาง ฝากไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) เมื่อเขาพอใจ ราคาข้าวก็สูงขึ้น ก็จึงจะนำออกมาขาย ที่ผ่านมาหลายพื้นที่ บางคนอาจจะไม่ทราบตรงนี้นะครับ ต้องลงรายละเอียดให้มากยิ่งขึ้น ไม่งั้นที่เราทำไปทั้งหมด มันก็มีทั้งคนได้ คนไม่ได้ คนได้ก็พอใจ คนไม่ได้เขาก็เสียใจ เขาไม่ได้เพราะอะไรครับ เขาไม่เข้าใจ คือไม่รู้ ไม่รับทราบ ไปถามคนนี้ก็ตอบไม่ได้ ถามอีกพวกก็ตอบไม่ได้

เราไม่สามารถที่จะทำให้ประชาชนรู้พร้อมกันได้ทั้งหมด แต่ข้าราชการในท้องถิ่น ในพื้นที่ ผมขอฝากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล ทั้งหมดนั่นแหละครับ ท้องถิ่นน่ะ เป็นผู้ที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ท่านต้องรู้ทุกเรื่องที่รัฐบาลทำ ท่านต้องรู้ทุกช่องทาง ท่านต้องรู้ถึงโอกาส และรู้ถึงการแก้ปัญหาของรัฐบาลนี้ เพื่อท่านจะเชื่อมต่อความต้องการของประชาชนมาให้ถึงรัฐบาลได้นะครับ”