ลุ้นผลสรรหาผู้ว่ากทพ.จับตา “สุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์”

12 มิ.ย. 2561 | 08:03 น.
ผลการสรรหาผู้ว่ากทพ.ใกล้คลอด วงในเชื่อ “สุชาติ” นอนมาขึ้นแท่นผู้ว่าทางด่วนคนใหม่ ขับเคลื่อนแผนสร้างทางด่วน 3 เส้นทางค่ากว่าแสนล้าน คาดชนะแต้มประสบการณ์-ความสัมพันธ์บิ๊กรับเหมาและกลุ่ม BEM ล่าสุดแสดงวิสัยทัศน์ไปเมื่อ 5 มิ.ย.61

แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เผยว่าตามที่การรับสมัครสรรหาตำแหน่งผู้ว่ากทพ.นั้นมีผู้ที่ผ่านคุณสมบัติได้รับคัดเลือกให้เข้าแสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 4 ราย ประกอบด้วย 1. นายกฤต ธนิศราพงศ์ 2. ผศ.ดร.ภักดี มะนะเวศ 3.นางวิภาภรณ์ ชัยรัตน์ และ 4.นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ รองผู้ว่าการฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา กทพ. ภายหลังจากขั้นตอนการแสดงวิสัยทัศน์เบื้องต้น คณะกรรมการคัดเลือกที่มีพล.อ.อ.ยุทธนา สุกุมลจันทร์ เป็นประธานสรรหา คาดว่าได้เตรียมเสนอรายชื่อผลการคัดเลือกสรรหาคือ นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ รองผู้ว่าการฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา ให้กับคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด) กทพ.พิจารณาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งอย่างเป็นทางการใน 1-2 เดือนนับจากนี้

suchat

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่านายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ มีประสบการณ์ทำงานกับองค์กรมามากกว่า 20 ปีนับว่าเป็นหนึ่งในบุคคลากรยุคบุกเบิกของกทพ. นอกจากนี้ยังมีความชำนาญด้านงานก่อสร้าง คุมงานและบำรุงรักษาทางด่วน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างทางด่วนมาแก้ไขปัญหาจราจรในเมืองหลวง นอกจากนี้ยังได้แต้มต่อเรื่องของความสัมพันธ์กับบริษัทเอกชน ถือเป็นหนึ่งในบุคคลากรที่เจรจาต่อรองกับคู่สัญญาเอกชนรายใหญ่ได้อย่างดี เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ อาทิ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งในอนาคตยังต้องประสานขอความร่วมมือกับเอกชนหลายด้าน อาทิ การเชื่อมทางด่วนมิสซิ่งลิงก์ช่วงศรีรัช-โทลล์เวย์ และอัตราการคิดค่าบริการทางด่วนในอนาคต เป็นต้น ทั้งนี้สำหรับตำแหน่งรองผู้ว่าการฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษาที่ว่างลงนั้น กทพ.จะเร่งคัดเลือกสรรหาตำแหน่งดังกล่าวและเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดเห็นชอบต่อไป

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

สำหรับแผนงานที่ต้องรอให้ผู้ว่าการกทพ.คนใหม่เข้ามาดูแลรับผิดชอบนั้น คงเป็นเรื่องของการเร่งพัฒนาโครงการทางด่วนหลายเส้นทางมูลค่ารวมกว่าแสนล้านบาท เพื่อเพิ่มโครงข่ายการเดินทางและแก้ปัญหาจราจรตามหัวเมือง อาทิ โครงการทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกาญจนาภิเษก วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท โครงการทางด่วนสายเหนือขั้นที่ 2 (N2) และส่วน E-W Corridor วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท

โครงการทางพิเศษ(อุโมงค์)ช่วงกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท โครงการ ทางด่วนฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท ระยะทาง 104 กม. โครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา วงเงิน 3.1 หมื่นล้านบาท ระยะทาง 42 กม. ตลอดจนโครงการก่อสร้างทางด่วนแก้ปัญหารถติดตามหัวเมืองใหญ่ อาทิ จ.ขอนแก่นและจ.เชียงใหม่ เป็นต้น

 

e-book-1-503x62-7