บอร์ดกสทช.พักใบอนุญาตPEACE TV

09 พ.ค. 2561 | 10:24 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

บอร์ดกสทช.พักใบอนุญาตPEACE TV

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (9 พ.ค. 2561) ที่ประชุม กสทช. มีมติให้พักใช้ใบอนุญาตช่อง PEACE TV โดยอาศัยอำนาจตาม ข้อ 19 ของ ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 เป็นเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่ง และหากยังคงฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอยู่อีก จะใช้มาตรการทางปกครองที่สูงขึ้นต่อไป

ทั้งนี้เนื่องจาก การออกอากาศรายการ เดินหน้าต่อไป เมื่อวันที่ 26, 27 มี.ค. และวันที่ 5 เม.ย. 2561 เวลา 14.30-15.30 น. โดยประมาณ รายการ หยิบข่าวมาคุย เมื่อวันที่ 27 มี.ค. และวันที่ 9 เม.ย. 2561 เวลา 10.30-12.00 โดยประมาณ รายการ เหลียวหลังแลไปข้างหน้า เมื่อวันที่ 26, 27 มี.ค. และวันที่ 9 เม.ย. 2561 เวลา 17.00-18.00 น. โดยประมาณ รายการ เข้าใจตรงกันนะ เมื่อวันที่ 27 มี.ค. เวลา 18.20-19.20 น. โดยประมาณ

takon1

ทางช่องรายการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ช่อง PEACE TV มีเนื้อหารายการอันเป็นการส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร และยังเป็นการนำเสนอที่ขัดต่อคำสั่งศาลปกครอง ที่มีคำสั่งให้บริษัท พีซ เทเลวิชั่น จำกัด ปฏิบัติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 97/2557 ลงวันที่ 18 ก.ค. 2557 และฉบับที่ 103/2557 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2557 ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำผิดซ้ำซาก

การออกอากาศรายการดังกล่าวทั้งหมด เป็นการขัดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 18 ก.ค. 2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 103/2557 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 อันเป็นการขัดต่อข้อกำหนดในบันทึกข้อตกลง ลงวันที่ 26 ส.ค. 2557 ระหว่างสำนักงาน กสทช. และบริษัท พีซ เทเลวิชั่น จำกัด ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ช่อง PEACE TV

ซึ่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 41/2559 ลงวันที่ 13 ก.ค. 2559 ถือว่าเนื้อหาดังกล่าวเป็นการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 37 ประกอบมาตรา 63 และมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

peace

นายฐากร กล่าวว่า จากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้มติมอบหมายให้ท่านประธาน กสทช. พิจารณามอบอำนาจให้เลขาธิการ กสทช. มีอำนาจในการระงับการออกอากาศโฆษณาที่ผิดกฎหมายเป็นการชั่วคราว กรณีมีการเผยแพร่โฆษณาที่ผิดกฎหมายผ่านโทรทัศน์ วิทยุ หรือผ่านเว็บไซต์ หลังจากที่ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่มานั่งมอนิเตอร์การออกอากาศโฆษณาที่ผิดกฎหมายรวมกับเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. ณ ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาที่ผิดกฎหมายของสำนักงาน กสทช. ได้ส่งรายงานพบการออกอากาศโฆษณาที่ผิดกฎหมายมาให้สำนักงาน กสทช. เพื่อให้สั่งระงับการออกอากาศโฆษณาดังกล่าวทันที เพื่อเป็นการลดขั้นตอน เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ ขั้นตอนปกติเมื่อมีผู้ร้องเรียนเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย จะต้องนำเนื้อหาดังกล่าวเข้าสู่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ที่มี กสทช. พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ เป็นประธาน เพื่อพิจารณา ซึ่งเมื่อพบว่ามีโฆษณาที่ผิดกฎหมาย หรือการโฆษณาเกินจริง สำนักงาน กสทช. ก็จะมีการสอบถามไปยัง อย. โดย อย. จะทำการตรวจสอบก่อนส่งเรื่องกลับมาที่สำนักงาน กสทช. รวมระยะเวลากระบวนการจะใช้เวลา 45-60 วัน ถึงจะสามารถยุติการออกอากาศรายการนั้นได้
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 สำหรับการดำเนินการที่สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ อย. ในการดำเนินงานเพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการดังกล่าว ทางทีมเจ้าหน้าที่ อย. จะเข้ามาร่วมมอนิเตอร์กับสำนักงาน กสทช. ณ ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาที่ผิดกฎหมายของสำนักงาน กสทช. เป็นเวลา 3 เดือน ขณะเดียวกันก็ส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาการกระทำอันเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคของ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ตามปกติ เมื่อคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเรียบร้อยแล้ว จะส่งเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้การระงับโฆษณาดังกล่าวจะต้องระงับไปจนกว่า จนกว่าผลการพิจารณาจะเป็นข้อยุติ

กรณีที่ผู้ประกอบกิจการฝ่าฝืน จะมีโทษปรับตามประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ข้อ 5 (2) ที่ระบุว่าการออกอากาศรายการหรือการโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระ ในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้าโดยหลอกลวง หรือกระทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือโดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท และหากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับวันละ 100,000 บาท

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว