ยักษ์ธุรกิจอัด 3.5 หมื่นล้าน ปั้นสตาร์ตอัพ!

01 พ.ค. 2561 | 13:47 น.
010561-2017

กลุ่มทุนใหญ่อัดฉีดเม็ดเงินกว่า 3.5 หมื่นล้าน หนุนทุนสตาร์ตอัพในไทย ดึง 'หัวเว่ย' พัฒนาระบบอีโคซิสเต็ม เผย กรุงเทพฯ ถูกยกเป็นเบอร์ 1 ของโลกเมืองน่าลงทุน ลุยโรดโชว์ยุโรป-เอเชีย จับมือเป็นภาคีพัฒนาย่านนวัตกรรม

นายปริวรรต วงษ์สำราญ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เปิดเผยว่า บริษัทไทยขนาดใหญ่ที่เป็นลักษณะ Corporate Venture อาทิ กลุ่มธนาคาร, เอสซีจี, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด, บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันตั้งงบประมาณ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัพในกลุ่มของตัวเองให้เติบโตขึ้น วงเงินรวมกันประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินตรงนี้จะเป็นคนละส่วนกับกองทุนของรัฐบาล

 

[caption id="attachment_278243" align="aligncenter" width="378"] พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พันธุ์อาจ ชัยรัตน์
ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA[/caption]

นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์ในการสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจสตาร์ตอัพของประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินการเข้าสู่ระยะที่ 3 แม้ในช่วงปีแรก จะไม่มีธุรกิจรายใดเข้าร่วม แต่ประสบความสำเร็จในการสร้างความรับรู้และความเข้าใจที่ต่างกันระหว่างเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ ส่วนปีที่ 2 เป็นปีทองของฟินเทค มีธนาคารเข้ามาทำงานด้านสตาร์ตอัพมากขึ้น ในลักษณะ Venture Capital หรือ การร่วมลงทุน กว่า 80% ของธนาคารไทย โดยเฉพาะธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารเอสเอ็มอี และธนาคารกรุงไทย ที่เริ่มทำสตาร์ตอัพ โดยมีนโยบายและกองทุนที่สนับสนุนสตาร์ตอัพ เป็นเงินลงทุนที่ไม่ใช่เงินกู้ จนธนาคารกลายเป็นผู้เล่นหลักในสตาร์ตอัพของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีบริษัทขนาดใหญ่เริ่มเข้ามาสนใจธุรกิจสตาร์ตอัพมากขึ้น

"ปีที่ 2 เราใช้แนวคิดว่า สติลอัพเอเชีย ที่ต้องการดึงผู้เล่นหลักในเอเชียเข้ามาในประเทศและมีการโหวตว่า เมืองไหนน่าจะเป็นเมืองที่สตาร์ตอัพอยากมาลงทุนมากที่สุด ปรากฏว่า เราเป็นอันดับ 7 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย จากการลงทุนในปีแรก เริ่มต้นจากไม่กี่ร้อยล้านบาท กลายเป็นมีเม็ดเงินรอลงทุนเกือบ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 3.5 หมื่นล้านบาท ในปีนี้ ทำให้เห็นว่า การพัฒนาของสตาร์ตอัพประเทศไทยไปไกลมาก ต่างประเทศให้ความสนใจที่จะมาลงทุนในไทย เพราะกฎหมายมีการพัฒนาให้รองรับการลงทุน ทั้งสิทธิการถือครองบริษัท การจดทะเบียนบริษัท สิทธิพิเศษให้ผู้ประกอบการภายใน 36 เดือนแรก"


multivarate-opportunity

ส่วนปีนี้ เข้าสู่ปีที่ 3 ภายใต้แนวคิด Endless Opportunities มีกลุ่มบริษัทใหญ่เข้ามาร่วมมากขึ้น เช่น กลุ่มบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด, กลุ่มบริษัท ประกันชีวิต, กลุ่มอาหาร และเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา มีสมาร์ทวีซ่า ที่มีความเป็นสากลเป็นแม่เหล็กดึงดูดสตาร์ตอัพในต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยได้ง่ายขึ้น ทั้งที่กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ภูเก็ต และเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ส่วนในอนาคตอีก 2 เดือนข้างหน้า จะมีการลงนามในเอ็มโอยูร่วมกับ บริษัท หัวเว่ยฯ ของประเทศจีน ในการให้หัวเว่ยเข้ามาพัฒนาระบบอีโคซิสเต็มให้กับสตาร์ตอัพของไทย

"ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้สตาร์ตอัพสายแข็ง หรือ Deep Tech Startup มีจำนวนเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นจุดดึงดูดให้เงินในกองทุนที่อยู่ในตลาดเกือบ 3.5 หมื่นล้านบาท สามารถลงทุนสตาร์ตอัพ โดยสิ่งที่รัฐต้องทำ คือ การใช้เงินภาษีให้คุ้มค่าด้วยการพัฒนาการเจรจาให้กับการลงทุนสตาร์ตอัพสายแข็งของคนไทยให้โตระดับนานาชาติ เพราะประเทศไทยยังมีสตาร์ตอัพสายแข็งประมาณ 200 รายเท่านั้น"


mp25-3247-b

นายพันธุ์อาจ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ได้เดินสายโรดโชว์สตาร์ตอัพของไทยในหลายประเทศ ทั้งยุโรป, ฟินแลนด์, ออสเตรีย และเยอรมนี ทำให้ทราบว่า ต่างประเทศเริ่มหันมามองประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งการแข่งขันของสตาร์ตอัพตอนนี้ไม่ได้แข่งในระดับชาติแล้ว แต่เป็นการแข่งระดับเมือง โดยในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มีการลงนามความร่วมมือระหว่างเมืองกับประเทศไทยหลายประเทศ เช่น เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี, เมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย กับกรุงเทพฯ และเชียงใหม่

นอกจากนี้ ยังได้รับเชิญจากผู้ว่าราชการจังหวัดเมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เชิญไปลงนามเอ็มโอยู ทำให้เป็นฟุกุโอกะกับกรุงเทพฯ เป็นเมืองสตาร์ตอัพ และกำลังติดต่อกับเมืองโอซากา รวมทั้งเมืองซานติเอโกเดชีเล เมืองหลวงของประเทศชิลี มาลงนามกับกรุงเทพฯ และจะมีการเจรจากับกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน, เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน รวมทั้งเจาะตลาดอเมริกาใต้และแอฟริกา


MP20-3332-A

"กิจกรรมในระยะต่อไป จะลงไปในระดับเมืองแทนระดับประเทศมากขึ้น ย่านนวัตกรรมจะอยู่ในเมืองมากขึ้น เพราะเมืองเหล่านี้มีอีโคซิสเต็มที่พร้อม ถ้าประเทศไทยไม่ทำแบบนี้ จะไม่สามารถดึงดูดคนที่มีความสามารถ มีความพร้อมเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะนี่ คือ สงครามธุรกิจรูปแบบใหม่ เพราะมีไม่กี่เมืองในโลกที่สามารถดูดเงินแบบนี้ได้" นายพันธุ์อาจ กล่าว


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,361 วันที่ 29 เม.ย. - 2 พ.ค. 2561 หน้า 15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
นำร่องเปิดสตาร์ตอัพ! ต่อยอดบิ๊กดาต้าภาครัฐ
TVD ลงทุน 60 ล้าน ธุรกิจสตาร์ตอัพ


e-book-1-503x62