สนช.รับหลักการร่างพ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดานำร่องปฏิวัติการศึกษา

27 เม.ย. 2561 | 10:42 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สนช. มีมติ 166 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ขณะสมาชิก สนช. ระบุ การจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาเป็นการปฏิวัติทางการศึกษาครั้งใหญ่ เป็นการสร้างตำแหน่งทางวิชาชีพและถือเป็นต้นแบบของสถาบันอาชีวะศึกษา

วันนี้(27เม.ย.2561)เว็บไซต์ http://radioparliament.net เผยแพร่ข่าวว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเห็นด้วย 166 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 5 เสียง กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 30 วัน

โดย นายอุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงหลักการและเหตุผล ที่ต้องตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดาและโรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามบรมราชกุมารี เพื่อโรงเรียนจิตรลดา ในการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านทักษะวิชาชีพ และเทคโนโลยีให้แก่บุคคลทั่วไป สถานศึกษาทั้งสองแห่งได้ผลิตบุคลากรสายวิชาชีพ ซึ่งมีความรู้ความสามารถอันเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

org_7455585957
เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการกำลังคน ซึ่งมีทักษะด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพระดับสูงมากขึ้น เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา สร้างความชำนาญในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ โดยให้ผู้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานสายวิชาชีพมีโอกาสศึกษาต่อด้านวิชาชีพเฉพาะทางในระดับปริญญา ให้การผลิตกำลังคนซึ่งมีความรู้ทางวิชาการและทักษะทางวิชาชีพในระดับสูงและเกิดประสิทธิภาพ สูงสุด สมควรรวมวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดาและโรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) ซึ่งอยู่ในความอุปถัมภ์ของมูลนิธิสยามบรมราชกุมารี เพื่อโรงเรียนจิตรลดา มาจัดตั้งเป็นสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มีฐานะเป็นสถานศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีในกำกับของรัฐ

คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา ชี้แจงว่า สถาบันมีจุดประสงค์หลักคือ การสร้างสายวิชาชีพ เป็นนวัตกรรมที่นำเอาอาชีวศึกษากับอุดมศึกษามาเชื่อมโยงต่อยอด และร่วมมือกับสถานประกอบการอย่างใกล้ชิด อนุรักษ์วิชาชีพบางอย่างเพื่อส่วนรวมและประเทศ และเส้นทางนี้ถือเป็นการนำร่องให้สถานศึกษาอาชีวะอื่น ๆ ดูเป็นแบบอย่าง ส่วนเรื่องของตำแหน่งจะเน้นหนักไปทางวิชาการ แต่ยังไม่มีตำแหน่งด้านทักษะวิชาชีพ มาตรา 60 จึงตั้งไว้เพื่อรองรับอนาคต เพื่อให้สายวิชาชีพ เช่น ช่างฝีมือ สิ่งประดิษฐ์ มีตำแหน่งรองรับ ขณะประเด็นใบประกอบวิชาชีพครู ทางสถาบันจะรองรับทั้งครูที่มีใบและไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ด้านสมาชิก สนช. ให้การสนับสนุน พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างมาก และเห็นว่าการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เป็นการปฏิวัติทางการศึกษาครั้งใหญ่ เป็นการสร้างตำแหน่งทางวิชาชีพ ที่คนจบอาชีวะสามารถเทียบเท่าตำแหน่งวิชาการได้ ทำให้การจัดการเรียนรู้เกิดความต่อเนื่องเชื่อมโยง และถือเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่น่าสนใจ ถือเป็นต้นแบบของสถาบันอาชีวะศึกษาได้ ทั้งนี้ ควรประชาสัมพันธ์ให้สังคมรู้ว่า สายอาชีพมีคุณูปการต่อประเทศชาติ หากได้บุคลากรทางอาชีวะเก่ง ทิศทางการปรับเปลี่ยนอาชีวะจะนำประเทศได้

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว