ช็อปออนไลน์ปรอทแตก! ทุนจีน สิงคโปร์ ขย่มตลาด 'อี-คอมเมิร์ซ' ชิงเค้ก 2 แสนล้าน

26 เม.ย. 2561 | 06:33 น.
260461-1301

สงครามการค้าปลีก ‘อี-คอมเมิร์ซไทย’ แข่งเดือด! อี-มาร์เก็ตเพลสชื่อดังอย่างน้อย 2 ราย จ่อปิดบริการ หลังสู่พลังมังกร ‘อาลีบาบา-เจดีดอทคอม’ ไม่ได้ ... ฟันธง! สุดท้ายเหลือผู้ให้บริการ 3 ราย คือ ลาซาด้า, เซ็นทรัลออนไลน์ และช้อปปี้

สงครามการค้าปลีก ‘อี-คอมเมิร์ซ’ ในไทย มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ใกล้ถึงจุดลงตัวแล้ว
ตามกลไกการแข่งขันทางธุรกิจ โดยผู้ที่แข็งแกร่งกว่าเป็นผู้อยู่รอด ล่าสุด มีกระแสการปิดให้บริการของเว็บไซต์ อี-มาร์เก็ตเพลส ระดับภูมิภาค ออกมา 2 ราย เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันได้ ขณะที่ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เชื่อการเข้ามาของ ‘อาลีบาบา’ จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและเกษตรกรไทย พร้อมเชื่อว่าจะผลักดันให้ไทยเป็น “ศูนย์กลาง อี-คอมเมิร์ซ”


1200x630bb

ฟันธง! อยู่รอดแค่ 3 ราย
แหล่งข่าวจากวงการ อี-คอมเมิร์ซ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า
การแข่งขันในธุรกิจค้าปลีก อี-คอมเมิร์ซ ในไทย ทวีความรุนแรงมากขึ้นตึ้งแต่ปีที่ผ่านมา ภายหลังการเข้ามาของ ‘อาลีบาบา’ ที่ทุ่มเม็ดเงินมหาศาลประมาณ 15,000 ล้านบาท ในการซื้อกิจการลาซาด้า 6 ประเทศในภูมิภาค พร้อมทั้งประกาศทุ่มเม็ดเงินการตลาดอีก 15,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับการเข้ามาร่วมลงทุนของ ‘เจดีดอทคอม’ กับ ‘เซ็นทรัลออนไลน์’ ขณะที่ ‘ช้อปปี้’ ผู้ให้บริการโมบายคอมเมิร์ซระดับภูมิภาค สัญชาติสิงคโปร์ ที่มาแรงในขณะนี้นั้น ใช้กลยุทธ์ฟรีหมดทุกอย่าง เพื่อดึงร้านค้าเข้ามาในแพลตฟอร์ม ท้ายสุดแล้ว มองว่าจะเหลือผู้ให้บริการที่มีศักยภาพแข่งขันกันได้เพียง 3 ราย คือ ลาซาด้า, เซ็นทรัลออนไลน์ และช้อปปี้

“ตลาดดอทคอมเป็นรายแรกที่ออกจากเกมการแข่งขัน อี-มาร์เก็ตเพลส หรือ เว็บไซต์สื่อกลางการติดต่อซื้อขายออนไลน์ โดยมี บริษัท ทีสเปซดิจิตอล จำกัด ในเครืออเดลฟอส กลุ่มทีซีซี กรุ๊ป เข้ามาถือหุ้น พร้อมทั้งปรับรูปแบบธุรกิจใหม่ ไปสู่ผู้ให้บริการแพลต์ฟอร์มยูคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มกลางที่รวบรวมร้านค้าที่อยู่ตลาดดอทคอม มากกว่า 100,000 ราย เพื่อช่วยร้านค้านำสินค้าขึ้นไปขายบน อี-มาร์เก็ตเพลส ต่าง ๆ รวมถึงโซเชียลมีเดีย

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

‘อีเลฟเว่นสตรีท’ จ่อปิด!
ส่วน อี-มาร์เก็ตเพลส ค่ายเกาหลีอย่าง ‘อีเลฟเว่นสตรีทดอตคอม’ แม้ว่าในปีที่ผ่านมา มีการทุ่มเงินทางด้านการตลาดและโฆษณาไปจำนวนมหาศาล แต่ในช่วงปลายปีก็เริ่มหานักลงทุนใหม่เข้ามา แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่สามารถหานักลงทุนได้ ซึ่งท้ายสุด มีแนวทางให้เลือก คือ ปิดให้บริการ กับปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจใหม่เหมือนตลาดดอทคอม อีกค่ายหนึ่งที่มีกระแสปิดให้บริการแล้ว คือ โอรามิ ที่วางโพสิชันตัวเองเป็นช็อปปิ้งออนไลน์สำหรับผู้หญิง ที่เข้ามาเปิดให้บริการเมื่อปีที่ผ่านมา”

“ฐานเศรษฐกิจ” ติดต่อไปยัง ‘อีเลฟเว่นสตรีทดอตคอม’ เพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ โดยได้รับแจ้งจากทีมงานบริษัทดังกล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูล อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายฮง โชลจอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อีเลฟเว่นสตรีท ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ทาง เอสเค แพลเน็ต ยังคงมั่นใจในตลาด อี-คอมเมิร์ซไทย และยืนยันที่จะเดินหน้าธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจหลายราย เพื่อแสวงหาแนงทางกลยุทธ์ธุรกิจที่เหมาะสม

download
อี-คอมเมิร์ซ แข่งเดือด!
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง เว็บไซต์บริษัท TARAD.com และนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า ตลาด อี-คอมเมิร์ซ โดยเฉพาะผู้ให้บริการ อี-คอมเมิร์ซ ปีนี้แข่งขันกันดุเดือดแน่นอน เนื่องจาก ‘ลาซาด้า’ ในกลุ่มอาลีบาบา ยังเดินหน้าทุ่มเงินลงทุนระดับหมื่นล้านบาท เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง ขณะที่ กลุ่มเซ็นทรัลและเจดีดอทคอม อี-คอมเมิร์ซ เบอร์ 2 จากจีน ก็กำลังเปิดให้บริการในเร็ว ๆ นี้ ส่วน ‘ช้อปปี้’ เป็นแพลตฟอร์มโมบายคอมเมิร์ซ เป็นผู้เล่นที่มาทีหลัง แต่เน้นของถูกและให้บริการกับร้านค้าฟรี ส่งฟรี ทำให้มาแรง ช่วงนี้มีการดึงลูกค้าจากแพลตฟอร์มอื่นเข้ามาเป็นจำนวนมาก

ส่วนกระแสข่าวการปิดให้บริการของผู้ให้บริการมาร์เก็ตเพลส ขณะนี้ ได้ยินข่าวมาเหมือนกัน แต่ยังไม่ชัดเจน แต่ด้วยสเกลการลงทุน เชื่อว่าไม่สามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการ อี-คอมเมิร์ซ จากจีนที่มีเงินลงทุนระดับหมื่นล้านบาทได้


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า กล่าวให้ความเห็นสั้น ๆ ว่า ผู้ให้บริการ อี-มาร์เก็ตเพลส ถ้าหากไม่มีการปรับตัว เชื่อว่าสุดท้ายจะเป็นตามที่มีการวิเคราะห์ว่า จะเหลือผู้ให้บริการเพียง 3 ราย คือ ลาซาด้า, เซ็นทรัล และช้อปปี้

ล่าสุด เว็บไซต์อาเซียน อัพ ดอตคอม ได้รายงานตัวเลขเว็บไซต์ อี-คอมเมิร์ซ ในไทย ที่มียอดผู้เข้าชมสูงสุด 10 อันดับแรก สิ้นสุด ณ เดือน มี.ค. 2561 ประกอบด้วย

1.ลาซาด้า มียอดผู้เข้าชมเดือนละ 63.3 ล้านคน
2.ช้อปปี้ 17 ล้านคน
3.อีเลฟเว่นสตรีท 5.5 ล้านคน
4.เจ.ไอ.บี. 3.15 ล้านคน
5.ตลาดดอทคอม 2.9 ล้านคน
6.โฮมโปร 2.85 ล้านคน
7.ซีเอ็ด 2.5 ล้านคน
8.แอดไวซ์ 2.27 ล้านคน
9.เซ็นทรัล 2 ล้านคน
10.มั่นคงแก็ดเจ็ต 1.5 ล้านคน


GP-3360_180426_0013

เชื่อ! เอสเอ็มอีได้ประโยชน์
นายณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเข้ามาของอาลีบาบา ถ้ามองในแง่ภาพรวม จะมีผลทางบวกมากกว่าลบ เพราะทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะเป็นการสร้างโอกาสและสร้างช่องทางขายของผู้ประกอบการ ทั้งเอสเอ็มอีและสินค้าเกษตรแปรรูป ที่เชื่อมโยงเกษตรกร นอกจากนี้ จะเกิดการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศในการเป็นศูนย์กลาง ‘ดิจิตอล ฮับ’ หรือเรื่อง อี-คอมเมิร์ซ หรือ โลจิสติกส์ฮับในอนาคต ทำให้ อี-คอมเมิร์ซ รายใหญ่ ๆ ตบแถวเข้ามาลงทุนในไทยได้มากขึ้น และน่าจะเป็นแรงจูงใจที่ทำให้อีกหลายธุรกิจที่เกี่ยวกับธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติม อีกทั้งยังสร้างการตื่นตัวให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะเป็นช่องทางขายและสร้างการตื่นตัวให้กับธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ ที่มีอยู่


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,360 วันที่ 26-28 เม.ย. 2561 หน้า 02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กวางตุ้งคลั่ง!ช็อปออนไลน์ โอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทย
อีเลฟเว่นสตรีทรุกช็อปออนไลน์ เชื่ออนาคตอี-คอมเมิร์ซไทยเทียบชั้นเกาหลีส่อโต50%


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว