KTISเผยผลิตน้ำตาลทะลุพันล้านกก.ชี้ปริมาณอ้อยพุ่งส่งผลรายได้ขายไฟเพิ่ม

25 เม.ย. 2561 | 05:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

KTIS เปิดข้อมูลเผยผลิตน้ำตาลทะลุ 1,000 ล้าน กก. ชี้ปริมาณอ้อยพุ่งส่งผลรายได้ขายไฟฟ้าเพิ่ม ยืนยันรับอ้อยจากชาวไร่อ้อยเข้าหีบจนถึงที่สุด กำหนดปิดหีบต้นเดือนพฤษภาคมนี้

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เผยว่า จากการเก็บข้อมูลการหีบอ้อยและการผลิตน้ำตาลของปีการผลิต2560/61 จนถึงปัจจุบัน พบว่าโรงงานน้ำตาลในกลุ่ม KTIS ทั้ง 3 โรง คือ โรงงานน้ำตาลเกษตรไทยฯ โรงงานน้ำตาลรวมผล และโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ สามารถหีบอ้อยได้รวมประมาณ 10 ล้านตันแล้ว ซึ่งสูงกว่าปริมาณอ้อยของปีการผลิต 2559/60 ที่มีปริมาณอ้อยรวมประมาณ 8.7 ล้านตัน โดยขณะนี้ปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายก็ได้ทะลุ 10 ล้านกระสอบ (1,000 ล้านกิโลกรัม) ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสูงกว่าปีก่อนที่ได้น้ำตาลประมาณ 9.4 ล้านกระสอบ

ทั้งนี้ ปริมาณอ้อยและน้ำตาลของกลุ่ม KTIS ที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมของอุตสาหกรรมที่คาดว่าปีนี้จะมีปริมาณอ้อยทั้งระบบสูงถึง 130 ล้านตัน

ktis

“ปริมาณอ้อยที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ทำให้มีชานอ้อยและใบอ้อยที่จะเข้าสู่โรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง 3 โรงมากขึ้น สามารถผลิตไฟฟ้าได้เป็นระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีรายได้จากการขายไฟฟ้ามากขึ้น อีกทั้งมีชานอ้อยเข้าสู่โรงงานผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อย และผลิตบรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อยมากขึ้น ปริมาณอ้อยจึงส่งผลดีทั้งต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าว

สำหรับสายธุรกิจโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลของกลุ่ม KTIS นั้น ในปี 2561 นี้นับเป็นปีแรกที่จะรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เต็มปีทั้ง 3 โรง ทั้งโรงไฟฟ้าเกษตรไทยไบโอเพาเวอร์ (KTBP) และรวมผลไบโอเพาเวอร์ (RPBP)ที่จ.นครสวรรค์ และไทยเอกลักษณ์เพาเวอร์ (TEP) ที่จังหวัดอุตรดิตถ์

ktis2

นายณัฎฐปัญญ์กล่าวอีกว่า โดยปกติแล้วปริมาณอ้อยและน้ำตาลที่ผลิตได้มากขึ้นนี้จะส่งผลให้บริษัทมีรายได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม จะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ราคาน้ำตาลในตลาดโลก และอัตราแลกเปลี่ยน เพราะน้ำตาลส่วนใหญ่กว่า 70% ของปริมาณที่ผลิตได้ จะส่งออกไปขายต่างประเทศ

“เนื่องจากปีนี้ปริมาณอ้อยมีจำนวนมาก การปิดหีบอ้อยของกลุ่ม KTIS ในบางโรงงาน จะไปปิดในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2561 เพื่อให้รับอ้อยจากชาวไร่อ้อยได้มากที่สุด ซึ่งคาดว่าปริมาณอ้อยหลังปิดหีบของกลุ่มเราน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 11 ล้านตัน” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว