ผลผลิต‘ไทย-เวียดนาม’ทะลัก ส่งออกข้าว Q2 แข่งเดือด

24 มี.ค. 2561 | 10:10 น.
การส่งออกข้าวไทยในปี 2560 ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.6 ล้านตัน (เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดียที่ส่งออกได้ 12.04 ล้านตัน) โดยผู้ส่งออกได้อานิสงส์จากหลายปัจจัย เช่น ข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่ถูกระบายออกมาจำนวนมาก ผู้ส่งออกมีข้าวส่งมอบเฉพาะอย่างยิ่งตลาดใหญ่คือแอฟริกาที่นิยมรับประทานข้าวเก่า ไทยเหลือข้าวในสต๊อกไม่มากไม่มีผลกดทับราคาตลาด ผลจากสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ไทย-จีนที่ยังคงสั่งซื้อต่อเนื่อง ผลจากตลาดบังกลาเทศที่ประสบภัยธรรมชาติ ต้องนำเข้าข้าว และจากเศรษฐกิจคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น และราคานํ้ามันที่มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อของกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการส่งออกนํ้ามันเพิ่มขึ้น

TP8-3350-B ++ส่งออกแล้ว 2.7 ล้านตัน
“ชูเกียรติ โอภาสวงศ์” นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยสรุปภาพรวมการส่งออกข้าวไทยในไตรมาสที่ 1/2561 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนว่า ภาพรวมการส่งออกข้าวไทยไตรมาสที่ 1/2560 ส่งออกข้าวได้ 2.7 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 9 แสนตัน สำหรับในปี 2561 ในเดือนมกราคมไทยส่งออกข้าวได้ 9.6 แสนตัน เดือนกุมภาพันธ์คาดจะส่งออกประมาณ 9 แสนตัน และเดือนมีนาคมคาดจะส่งออกลดลงเหลือประมาณ 8 แสนตัน ดังนั้นในไตรมาสแรกของปีนี้ คาดไทยจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 2.7 ล้านตันใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรืออาจจะลดลงเล็กน้อย ขณะที่มูลค่าส่งออกคาดจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาข้าวส่งออกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกด้านบวก เช่น 1.ประเทศผู้นำเข้าที่เป็นคู่ค้าของไทยมีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลง เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บังกลาเทศ และประเทศในแถบแอฟริกาบางประเทศ 2.รัฐบาลยังมีสัญญาขายข้าวแบบ รัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับประเทศจีนที่จะต้องมีการเจรจาเพื่อส่งมอบให้ครบตามที่ตกลงไว้ ซึ่งได้มีการตกลงส่งมอบจำนวน 1 แสนตันในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ 3.รัฐบาลไทยได้ระบายสต๊อกข้าวออกมาเกือบหมดแล้ว ทำให้ผู้ซื้อตื่นตัวที่จะนำเข้าข้าวเพื่อเก็บสำรองในประเทศของตนมากขึ้น

ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญได้แก่ 1. การแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องของเงินบาท ซึ่งเป็นการแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่ง ทำให้ราคาข้าวไทยแพงกว่าประเทศคู่แข่ง 2.ขาดแคลนชนิดข้าวที่เป็นที่นิยมของประเทศผู้ซื้อ เช่น ข้าวพื้นนิ่ม ขณะที่ประเทศคู่แข่ง เช่นเวียดนามมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ตรงตามความต้องการของตลาดและมีราคาที่ประเทศผู้ซื้อยอมรับได้ 3. จากแคลนข้าวเก่าสำหรับป้อนตลาดที่นิยมบริโภคข้าวเก่า เช่นประเทศในแถบแอฟริกา

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ ++ส่งออกQ2 แข่งเดือดราคา
สำหรับในไตรมาสที่2 ของปีนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) คาดการณ์ผลผลิตข้าวนาปรังปี 2561 จะออกสู่ตลาดประมาณ 8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีประมาณ 6 ล้านตัน ทำให้อุปทานข้าวในตลาดมีมากขึ้น อาจทำให้ราคาข้าวไทยอ่อนตัวลงบ้าง ขณะเดียวกันคาดว่าเวียดนามที่กำลังเก็บเกี่ยวข้าว Winter Spring Crop จะมีผลผลิตมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นคาดว่าในไตรมาสที่ 2 จะมีการแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งมากขึ้น

“คาดว่าผู้ซื้อที่ชะลอการซื้อข้าวในช่วงไตรมาสแรก จะเข้ามาซื้อข้าวไทยมากขึ้นในช่วงที่ราคาข้าวอ่อนตัวลง ประกอบกับในช่วงไตรมาสที่ 2 จะมีการส่งมอบข้าวที่ผู้ส่งออกประมูลได้ในช่วงไตรมาสแรก เช่น ญี่ปุ่น และจะมีการส่งมอบข้าวให้แก่ฟิลิปปินส์(โควตาเอกชน) ในช่วงกลางปีนี้ด้วย และคงต้องจับตาปัจจัยด้านค่าเงินบาทว่าจะไปในทิศทางใดเพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อราคาข้าวไทย”

อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งหลังของปีนี้คาดการส่งออกข้าวของไทยอาจจะเผชิญอุปสรรคทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายความสามารถของผู้ส่งออกไทยในการรักษาความเป็นผู้นำในตลาดข้าวโลก ทั้งนี้ในปี 2561 ทางสมาคมได้คาดการณ์ส่งออกข้าวของไทยไว้ที่ 9.5 ล้านตัน ซึ่งหากพิจารณาจากปัจจัยทั้งด้านบวกและด้านลบในขณะนี้ถือว่าเป็นระดับที่มีความเป็นไปได้ โดยในช่วงกลางปีนี้ทางสมาคมจะมีการประเมินเป้าหมายการส่งออกข้าวอีกครั้ง ซึ่งจะพิจารณาจากปัจจัยทั้งทางด้านราคา ผลผลิตข้าว และภาวะการแข่งขันในตลาดประกอบกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,350 วันที่ 22 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว