ปั้น 3 ทำเลทองแสนไร่! วางผังเนรมิตพื้นที่เชิงพาณิชย์ใหม่ต่อยอด 'อีอีซี'

18 มี.ค. 2561 | 05:43 น.
กรมโยธาฯ ขีดวงวางผังพัฒนา 3 พื้นที่เฉพาะ เนรมิตย่านพาณิชยกรรมนับแสนไร่ ที่ดินรอบอู่ตะเภาระอุ ขยายเพิ่มกว่า 3 หมื่นไร่ พ่วงท่าเรือจุกเสม็ด สถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และสื่อในเครือสปริงนิวส์กรุ๊ป ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จัดสัมมนา “Go Thailand : ลงทุนเพื่ออนาคต” โดย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ เอกชนของไทยและต่างประเทศ ร่วมเป็นวิทยากร

 

[caption id="attachment_269383" align="aligncenter" width="503"] เวทีสัมมนา“เมืองใหม่ อุตสาหกรรมใหม่ ประชาชนได้อะไร” เวทีสัมมนา“เมืองใหม่ อุตสาหกรรมใหม่ ประชาชนได้อะไร”[/caption]

เปิด 3 ทำเลทองแสนไร่
นายอนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ได้กำหนดโซนพัฒนาเชิงพาณิชย์ใหม่ 3 พื้นที่ เพื่อวางผังพัฒนาพื้นที่เฉพาะ 3 จุด พื้นที่รวมกว่า 1 แสนไร่ ได้แก่ พื้นที่บางบริเวณรอบสนามบินอู่ตะเภา เมืองการบิน จากเดิมที่กำหนดพื้นที่ไว้ไม่ต่ำกว่า 50 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) หรือ 31,250 ไร่ ได้ขยายเป็น 100 ตร.กม. หรือ 62,500 ไร่

 

[caption id="attachment_269400" align="aligncenter" width="503"] อนวัช สุวรรณเดช อนวัช สุวรรณเดช[/caption]

การจัดทำผังแม่บทการพัฒนาพื้นที่เฉพาะบริเวณชุมชนโดยรอบท่าอากาศยานอู่ตะเภา จะมีสนามบินเป็นศูนย์กลางของเมือง แบ่งพื้นที่เป็น 3 ชั้น คือ 1.ย่านพาณิชย์ชั้นใน (CBD) และศูนย์กลางคมนาคม 2.ย่านสำนักงานและที่พักอาศัย สาธารณูปการ 3.ย่านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรมการบินและศูนย์ประชุม-แสดงสินค้า โดยมีโครงข่ายเชื่อมโยงระบบคมนาคมในเมืองด้วยถนน Aerolane มีจุดรวมการจราจรขนส่งระบบราง (HSR/rail) - ถนน

สนามบินและท่าเรือ
2.พื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงของพัทยา โดยใช้การจัดรูปที่ดินแบบจากประเทศญี่ปุ่นมาเป็นต้นแบบ พื้นที่ 12 ตร.กม. หรือ 7,500 ไร่ และ 3.พื้นที่รอบนอกจุกเสม็ด ซึ่งเป็นพื้นที่ทหารเรือ พื้นที่ประมาณ 60 ตร.กม. หรือ 37,500 ไร่

ขณะเดียวกัน ได้ศึกษา 7 เมืองที่มีอยู่เดิม ว่า ให้ขยายการพัฒนาต่อและสร้างเมืองใหม่ บริเวณข้างเคียงควบคู่กันไป หรือ หยุดการพัฒนาบริเวณเมืองเก่าและสร้างเมืองใหม่ขึ้นมารองรับ ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกบรรจุลงในผังอีอีซี โดยการพัฒนาเมืองใหม่ในอีอีซี เบื้องต้น กำหนดไว้ 3 แห่ง คือ ฉะเชิงเทรา พัทยา ระยอง


TP15-3349-AA



ตั้งเป้า 1 ปี ทำผังเมืองอีอีซี
สำหรับความคืบหน้าการจัดทำผังเมืองรวม กำหนดแล้วเสร็จภายใน 1 ปี หลังแผนนโยบายพัฒนาพื้นที่อีอีซีผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน หากมีผลบังคับใช้จะยกเลิกผังชุมชนย่อยเดิมทั้ง 29 ผัง ตั้งแต่ชายฝั่งทะเล จ.ฉะเชิงเทรา-ระยอง ออกไป และยกร่างใหม่ ให้สอดคล้องกับผังใหญ่พื้นที่ 3 จังหวัด ครอบคลุม 8 ล้านไร่ โดยตัดเขตป่าและชุมชนออก 2 ล้านไร่ เหลือพื้นที่ว่างรอการพัฒนาและที่เกษตร 5 ล้านไร่

นายอนวัช ยังย้ำว่า ระหว่างที่ผังอีอีซียังไม่บังคับใช้ เอกชนสามารถปฏิบัติตามผังชุมชนที่มีอยู่ได้ต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้การพัฒนาหยุดชะงัก เพราะมีพื้นที่ลงทุนเดิมมากพอสมควรรอให้พัฒนา 3.5 แสนไร่ แต่หากเอกชนมีข้อกังวล สามารถส่งข้อมูลมาที่กรมโยธาฯ หรือสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) พิจารณาปรับให้ยืดหยุ่นได้เช่นกัน

 

[caption id="attachment_269398" align="aligncenter" width="336"] สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์[/caption]

‘พีทีทีจีซี’ ทุ่มลงทุน 1.3 แสนล้าน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี กล่าวว่า การพัฒนาอีอีซีจะส่งผลให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรม ท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นการสร้างโอกาสด้านการลงทุนให้เกิดขึ้นจริงได้

จากความเชื่อมั่นดังกล่าว ทำให้ ‘พีทีทีจีซี’ ได้ตัดสินใจลงทุนในอีอีซีตั้งแต่เริ่มแรก โดยวางกรอบการลงทุนในช่วง 5 ปี (2560-2564) ไว้ราว 1.3 แสนล้านบาท ลงทุนประมาณ 6 โครงการ ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่นไปแล้ว 5-8 ราย ที่จะมาร่วมลงทุน ระยะแรกจะลงทุนใน 3 โครงการก่อน ได้แก่ โครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตโอเลฟินส์ โครงการผลิตสารโพรพิลีน และโครงการผลิตสารโพลิออล มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 23 มี.ค. นี้

นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมใหม่ หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ ที่บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินงานใน จ.ชลบุรี และนครสวรรค์ อีกราว 3.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น เชื่อว่าการพัฒนาในอีอีซีจะผลักดันเศรษฐกิจของไทยมีการขยายตัวสูงขึ้น และหาก พ.ร.บ.อีอีซี ประกาศบังคับใช้แล้ว จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น และจะเห็นการลงทุนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

เอกชนเร่งยกระดับแรงงาน
นายจิระพันธ์ อุลปาทร ประธานกรรมการ บริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้จำหน่ายเครื่องจักรกล กล่าวว่า การพัฒนาแรงงานที่มีทักษะสูงมีความจำเป็นสำหรับการรองรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อตอบโจทย์นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาบุคลากร ทางบริษัทจึงเห็นความสำคัญในส่วนนี้ จึงได้จัดตั้งศูนย์เทคนิคแห่งนวัตกรรมการผลิต (Technical Learning Academy) เป็นการยกระดับศูนย์ฝึกอบรมทั่วไป เป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้ ซึ่งได้มีการร่วมมือกับภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชนรวมทั้งหมด 14 หน่วยงาน โดยจะมีทั้งห้องเรียน ห้องฝึกอบรม และห้องปฏิบัติการ (Workshop) ขนาดใหญ่ มีเครื่องจักรที่ทันสมัยให้ได้เข้าไปทดลองใช้งานจริง

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันจำนวนแรงงานที่มีฝีมือ ยังไม่เพียงพอ เพราะเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งในอีอีซีเดินหน้าเต็มตัว เข้าใจว่า ใน 5-10 ปีข้างหน้า ประชากรจะเข้าไปทำงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมที่มีอยู่ 1 ล้านคน จะกลายเป็น 5 ล้านคน และจะใกล้ 10 ล้านคน ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยแรงงานที่ต้องการจะมี 2 ส่วน คือ 1.แรงงานไม่ต้องมีฝีมือ ซึ่งยังคงจำเป็นอยู่ และ 2.แรงงานที่มีทักษะเฉพาะสาขาที่ต้องการ ซึ่งทางบีโอไอกำลังดำเนินการร่วมกับอีอีซีว่า ต่อไปการยื่นขอรับส่งเสริมจะต้องมีการลิสต์ด้วยว่า ต้องการกำลังคนทางด้านใดบ้าง เป็นองค์ประกอบการพิจารณาโครงการ


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,349 วันที่ 18-21 มี.ค. 2561 หน้า 02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
มธ.ปันศูนย์พัทยารับอีอีซี ดึงMGพี่เลี้ยงผลิตคนป้อนอุตฯยานยนต์
เอ็กโกผุดนิคมฯรับอีอีซี ชงแผนตั้งโรงไฟฟ้าใต้
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว