เอ็กโกผุดนิคมฯรับอีอีซี ชงแผนตั้งโรงไฟฟ้าใต้

16 มี.ค. 2561 | 11:28 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เอ็กโก กรุ๊ป ผุดนิคม 500 ไร่ รองรับอีอีซี เร่งเจรจากับบีโอไอ ขอสิทธิ์ในการส่งเสริม มั่นใจผลศึกษาชัดเจนภายในปลายปีนี้ ลงทุนโรงไฟฟ้าเอสพีพีเฟสแรก 100 เมกะวัตต์ ป้อนลูกค้า พร้อมเสนอแผนป้อนไฟฟ้าภาคใต้

นายจักษ์กริช พิบูลย์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมพัฒนาพื้นที่โรงไฟฟ้าระยอง จังหวัดระยอง ที่หมดอายุไปตั้งแต่ปี 2557 เพื่อจัดทำเป็นนิคมอุตสาหกรรม บนเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยได้เจรจากับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำนิคมอุตสาหกรรมและการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน และอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

[caption id="attachment_268024" align="aligncenter" width="335"] จักษ์กริช พิบูลย์ไพโรจน์ จักษ์กริช พิบูลย์ไพโรจน์[/caption]

ส่วนรูปแบบการจัดตั้งนิคมนั้น อยู่ระหว่างการศึกษาลักษณะนิคมอุตสาหกรรม จากเดิมก่อนหน้านี้มองว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว แต่คงต้องรอผลการศึกษาแล้วเสร็จก่อน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้เจรจาเบื้องต้นกับทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อรับสิทธิ์ตามการพัฒนาอีอีซี ซึ่งทางบีโอไอต้องการรอความชัดเจนรูปแบบนิคม เช่นกัน คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปลายปีนี้ จากนั้นจะเริ่มเชิญชวนลูกค้าที่จะเข้ามาลงทุนในนิคม ซึ่งในระยะแรกนิคม อาจไม่ใหญ่นัก โดยเตรียมสร้างโรงไฟฟ้าเอสพีพีเฟสแรก 100 เมกะวัตต์ เพื่อป้อนขายไฟฟ้าและไอนํ้าให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม และส่วนหนึ่งจะขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหากในอนาคตอุตสาหกรรมขยายตัวขึ้น ก็สามารถขยายโรงไฟฟ้าเอสพีพีเฟส 2 ต่อไปได้

ในขณะที่การเจรจาขายเครื่องจักรโรงไฟฟ้าระยองนั้น ที่ผ่านมาได้เจรจากับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปเนื่องจากเครื่องจักรเก่า หากนำไปผลิตไฟฟ้าต่อก็จะด้อยประสิทธิภาพ ดังนั้นอาจขายเป็นเศษเหล็ก คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้

สำหรับการดำเนินงานในปี 2561 เอ็กโก กรุ๊ป มองหาโอกาสขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการเติบโตในต่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นชัดเจนในช่วง 3-5 ปีข้างหน้าที่สัดส่วนจะใกล้เคียงกัน จากปัจจุบันในต่างประเทศ 26.36% นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้า (M&A) ที่เดินเครื่องผลิตแล้ว เนื่องจากสามารถรับรู้รายได้ทันที คาดจะมีความชัดเจนอย่างน้อย 1 โครงการภายในปีนี้ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 4.26 พันเมกะวัตต์

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2 ส่วนงบลงทุนปี 2561 บริษัทเตรียมไว้ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท สำหรับ 3 โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ โรงไฟฟ้าไซยะบุรีและโรงไฟฟ้านํ้าเทิน 1 ในสปป.ลาว และโรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จและทยอยเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ในปี 2562 และ 2565 ทั้งนี้งบลงทุนดังกล่าวยังไม่นับรวมโครงการใหม่ที่จะเข้าไปลงทุนและโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าปากแบง สปป.ลาว, โรงไฟฟ้าสตาร์ เอนเนอร์ยี่ ส่วนขยาย (หน่วยที่ 3 และ 4) ประเทศอินโดนีเซีย และโรงไฟฟ้ากวางจิ ประเทศเวียดนาม

นายจักษ์กริช กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ไฟฟ้าในภาคใต้ หลังจากโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา ต้องชะลอ 3 ปี บริษัทได้ตั้งทีมงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงไฟฟ้ารองรับความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ โดยจัดทำแนวทางสร้างโรงไฟฟ้าไว้ เช่น 1. การสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนอมส่วนขยายขนาด 500-900 เมกะวัตต์ คาดว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเมกะวัตต์ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี หรือ 3 ปีครึ่ง

2. โรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพีเฟส 2 จ.ระยอง ขนาดกำลังการผลิต 1 พันเมกะวัตต์ โดยขณะนี้มีพื้นที่ก่อสร้างพร้อมและได้ศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เสร็จแล้วและ 3. โรงไฟฟ้าชีวมวล เนื่องจากภาคใต้มีวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรพอสมควร เช่น เศษไม้ ไม้ยาง เป็นต้น ดังนั้นหากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ชัดเจน หรือหากภาครัฐได้ข้อ
สรุปไฟฟ้าภาคใต้ไปในแนวทางใด บริษัทก็พร้อมสร้างโรงไฟฟ้าให้สอดคล้องทันที

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,348 วันที่ 15 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว