ประมูลปิโตรฯ! 10 ปี ลงทุนหมุนเวียน 1.2 ล้านล้าน

10 มี.ค. 2561 | 10:13 น.
1639

การเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมหมดอายุในช่วงปี 2565-2566 ของแหล่งบงกช ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และแหล่งเอราวัณ ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติรวมกันราว 2,182 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็น 70% ของก๊าซที่ผลิตได้ในประเทศ กำลังเป็นที่จับตาของทุกฝ่าย ถึงผลได้ผลเสียที่จะเกิดขึ้น รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อความมั่นคงพลังงานของประเทศ

ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการแหล่งก๊าซฯ ที่จะหมดอายุ ออกมาแล้ว การดำเนินงานดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงทิศทางและความจำเป็นกับการเปิดประมูลครั้งนี้

 

[caption id="attachment_267104" align="aligncenter" width="503"] ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน | PHOTO : ฐานเศรษฐกิจ ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน | PHOTO : ฐานเศรษฐกิจ[/caption]

ลงทุนหมุนเวียน 1.2 ล้านล้าน
โดย นายศิริ ชี้ให้เห็นว่า การประมูลครั้งนี้จะเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศมีความต่อเนื่อง เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว จะต้องนำก๊าซแอลเอ็นจีในราคาตลาดโลก ที่ไม่สามารถกำหนดราคาขึ้นลงได้ ทำให้เป็นข้อกังวลที่จะเป็นเพิ่มภาระต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า และส่งผ่านมายังประชาชนได้ หากเปิดให้มีการแข่งขันและมีการผลิตก๊าซได้ขั้นต่ำที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังจากสิ้นสุดช่วงปี 2565-2566 ออกไปอีก 10 ปี และเป็นราคาซื้อขายที่ไม่สูงไปกว่าปัจจุบัน จะทำให้ประเทศได้ประโยชน์จากการลดภาระในการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีได้ประมาณ 11 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้ามีเสถียรภาพมากขึ้น หรือไม่กระทบกับค่าเอฟทีที่ต้องปรับเพิ่มขึ้น 25 สตางค์ต่อหน่วย และลดการนำเข้าก๊าซแอลพีจีได้ประมาณ 22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.6 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท

‘พีเอสซี’ รัฐมีกำไรกว่า 50%
อีกทั้ง การนำระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ พีเอสซี มาใช้ในการให้ผลประโยชน์ตอบแทนรัฐนั้น เนื่องจากทั้ง 2 แหล่ง มีโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ถึง 50% หรือต่ำกว่า 3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มีค่าสูงกว่าโอกาสการค้นพบปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ของประเทศ ที่อยู่ราว 39% ซึ่งจะส่งผลให้ภาครัฐมีสัดส่วนการแบ่งกำไรไม่ต่ำกว่า 50% รัฐเป็นเจ้าของปิโตรเลียมและอุปกรณ์ติดตั้ง มีการกำกับดูแลการลงทุนของภาคเอกชน หรือ สามารถควบคุมค่าใช้จ่าย เป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง ลดต้นทุนได้มากเท่าไร ผลตอบแทนในรูปกำไร หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ก็จะมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งการกำกับนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็มีผู้เชี่ยวชาญกว่า 100 คน ที่มีขีดความสามารถที่จะเข้ามาดูแล จึงมองว่า ผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐได้จะใกล้เคียงกับระบบสัมปทานที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ไม่เป็นภาระกับประชาชน ที่สำคัญเงื่อนไขทีโออาร์ในการประมูล ราคาก๊าซที่รับซื้อก็ไม่สูงไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


บาร์ไลน์ฐาน

ไม่ล็อกสเปกผลิตขั้นต่ำ
ส่วนกรณีที่มีการกำหนดให้แหล่งเอราวัณ ต้องผลิตก๊าซฯ อย่างต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งบงกช ผลิตอย่างต่ำ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันนั้น อย่าไปมองว่า เป็นการล็อกสเปก เพราะเป็นเรื่องของการรักษากำลังการผลิตให้เกิดการต่อเนื่อง อีกทั้ง การกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูล ก็จะต้องเป็นผู้เก่งหรือเชี่ยวชาญทางด้านนี้ และมีเงินทุนที่มากพอ จะเป็นการการันตีให้ผู้ที่มีคุณสมบัติครบเข้ามาแข่งขันประมูลได้ และสามารถเข้าไปดูข้อมูลแหล่งทรัพยากรได้เท่าเทียมกับรายเดิม รวมถึงระดับราคาซื้อขายก๊าซที่เป็นอยู่ปัจจุบัน น่าจะจูงใจให้มีผู้มาเข้าร่วมประมูลจำนวนมาก

ยันรายเก่าจ่ายค่ารื้อถอนแท่น
สำหรับกรณีผู้รับสัมปทานรายเดิมที่มีจำนวนแท่นอยู่ 278 แท่น เป็นของเชฟรอน 215 แท่น และ ปตท.สผ. 63 แท่น จะต้องชำระค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่จะส่งมอบให้รัฐหลังสัมปทานหมดอายุ ตามสัดส่วนของทรัพยากรปิโตรเลียมที่ได้ผลิตไปแล้ว และที่คงเหลือหลังการส่งมอบนั้น กพช. ได้รับทราบหลักการแล้ว ซึ่งผู้รับสัมปทานรายเดิมคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องจ่ายค่ารื้อถอน 58 แท่น ส่วนรัฐจะเก็บเอาไว้ 220 แท่น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการประมูลครั้งนี้ ส่วนจะจ่ายเท่าใดนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งจะต้องได้ข้อสรุปก่อนที่ทีโออาร์จะประกาศออกมา รวมถึงเป็นเงื่อนไขให้กับผู้ชนะประมูลรายใหม่ จะต้องเข้ามารับผิดชอบที่ต้องจ่ายค่ารื้อถอนด้วย จากที่ประเมินว่า จะต้องลงทุนแท่นอีกประมาณ 150 แท่น


TP09-3342-1A

สิ้นปีต้องได้ผู้ชนะประมูล
ส่วนขั้นตอนการเปิดประมูลภายหลังจากผ่านความเห็นชอบจาก กพช. ไปแล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเร่งจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประมูลให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน มี.ค. นี้ จากนั้นเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบด้านกฎหมาย เพื่อจะเสนอเข้าที่ประชุม กพช. อีกครั้ง ภายในวันที่ 23 เม.ย. นี้ และจะเปิดขายซองเป็นระยะเวลา 1 เดือน คือ ปลายเดือน เม.ย. - ปลาย พ.ค. นี้ จากนั้นจะใช้ระยะเวลา 1 เดือน ในการตรวจสอบคุณสมบัติ อาทิ จะต้องมีประสบการณ์สำรวจและผลิตแหล่งปิโตรเลียมในทะเล ต้องมีเงินทุนพอสมควร

ทั้งนี้ หากมีผู้ประกอบการรายเล็กรวมตัวกันเพื่อเข้าประมูล จะต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะทำหน้าที่ Operate ขณะที่เงื่อนไขการคัดเลือกนอกเหนือจากกำลังการผลิตขั้นต้นที่ระดับ 1.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันแล้ว ผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด และเสนอส่วนแบ่งกำไรสูงสุดจะได้รับการคัดเลือก คาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติภายในเดือน มิ.ย. นี้ พร้อมทั้งเปิดให้ยื่นประมูล คาดว่าสามารถคัดเลือกผู้ชนะการประมูลได้ภายในเดือน ธ.ค. 2561 และจะสามารถลงนามในสัญญากับผู้ชนะการประมูลได้ในเดือน ก.พ. 2562


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,347 วันที่ 11-14 มี.ค. 2561 หน้า 15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เปิด TOR ปิโตรเลียม! บีบ กพช. เร่งประมูล
"ไพรินทร์"ตรวจการสร้างท่าเทียบเรือ-คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว
“รมว.พลังงาน" ขีดเส้นภายใน ก.พ.2562 ลงนามสัญญากับผู้ชนะประมูลแหล่งปิโตรเลียม “เอราวัณ-บงกช”

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว