เปิด TOR ปิโตรเลียม! บีบ กพช. เร่งประมูล

08 มี.ค. 2561 | 07:14 น.
1401

กระทรวงพลังงานเร่งคลอดทีโออาร์ประมูลแหล่งปิโตรเลียมหมดอายุ ชง กพช. ไฟเขียวหลักการ 8 มี.ค. นี้ แบ่งประมูล 2 สัญญา กำหนดเงื่อนไขแหล่งบงกชผลิตก๊าซขั้นต่ำ 700 ล้าน ลบ.ฟ./วัน และเอราวัณ 800 ล้าน ลบ.ฟ. ราคาซื้อขายก๊าซไม่แพงกว่าปัจจุบัน

การเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุในช่วงปี 2565-2566 ของแหล่งบงกช ซึ่งมีบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และแหล่งเอราวัณของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กำลังมีความชัดเจนมากขึ้น

โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 8 มี.ค. 2561 นี้ ทางกระทรวงพลังงานจะเสนอที่ประชุมเพื่อขออนุมัติในหลักการของร่างทีโออาร์ ที่จะประมูลปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่ง เพื่อนำไปจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของทีโออาร์ และนำกลับมาเสนอ กพช. อีกครั้ง ในเดือน เม.ย. 2561 และนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป


TP09-3342-1A

สำหรับกรอบของการจัดทำทีโออาร์ครั้งนี้ จะมีการแบ่งการประมูลออกเป็น 2 สัญญา ได้แก่ แหล่งเอราวัณ G1/61 และแหล่งบงกช G2/61 โดยแต่ละสัญญาจะต้องผลิตก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (ตามลำดับ)

นอกจากนี้ จะกำหนดสัญญาซื้อขายก๊าซต้องไม่สูงกว่าราคาที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รับซื้ออยู่ในปัจจุบัน รวมถึงยังมีการขออนุมัติกรอบเวลาในการดำเนินงานเปิดประมูลตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการจัดหาก๊าซในอนาคต

 

[caption id="attachment_263156" align="aligncenter" width="390"] นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน[/caption]

โดยนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันก่อนหน้านี้ว่า การจัดทำร่างทีโออาร์การประมูลครั้งนี้จะแบ่งออกเป็น 2 สัญญา ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ พีเอสซี โดยกำหนดปริมาณการผลิตรวมของทั้ง 2 สัญญา ไว้ที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และราคาก๊าซธรรมชาติ จะอิงกับราคาก๊าซในอ่าวไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้สามารถรักษากำลังการผลิตก๊าซได้ต่อเนื่อง

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ทางกระทรวงพลังงานต้องการให้หลักการจัดทำร่างทีโออาร์ประมูลแหล่งปิโตรเลียมหมดอายุ ผ่านความเห็นชอบจาก กพช. ก่อนจะนำมากำหนดในรายละเอียดต่อไป และยืนยันว่า จะสามารถประกาศทีโออาร์ได้เร็วสุดในช่วงปลายเดือน เม.ย. หรือต้น พ.ค. 2561 เพื่อให้สามารถลงนามกับเอกชนที่ชนะการประมูลได้ภายในเดือน ก.พ. 2561 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกำหนดกรอบเวลาไว้

ขณะที่ นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนฯ ยืนยันว่า เชฟรอนยังไม่มีแผนจะถอนการลงทุนจากประเทศไทยแต่อย่างใด และมีความมุ่งมั่นที่จะลงทุนระยะยาวในไทยต่อไป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเข้าร่วมประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุ เพื่อความต่อเนื่องในการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2

อีกทั้งความล่าช้าในการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุในปี 2565-2566 นั้น ในความเป็นจริงแล้ว เชฟรอนเป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลแก่หน่วยงานรัฐ และปฏิบัติตามกระบวนการที่กำหนดโดยรัฐ ส่วนกรณีการจ่ายค่ารื้อถอนนั้น อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป โดยที่ผ่านมา บริษัทได้ให้ความร่วมมือ โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด

โดยทางเชฟรอนได้ยืนยันว่า ตลอดระยะเวลาของการดำเนินงานกว่า 55 ปี ในไทย ได้มุ่งมั่นเป็นพันธมิตร สนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้การจัดหาพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาสังคมผ่านโครงการต่าง ๆ มาโดยตลอด


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8-10 มี.ค. 2561 หน้า 01-15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
" รมว.พลังงาน" ขีดเส้นภายใน ก.พ.2562 ลงนามสัญญากับผู้ชนะประมูลแหล่งปิโตรเลียม “เอราวัณ-บงกช”
ทางออกนอกตำรา : ยกแรก ‘เค้กปิโตรเลียม’ ขาใหญ่พรึ่บ

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว