13ย่านค้า"พันธุ์ทิพย์-โรงเกลือ" หลุดโผขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

28 ก.พ. 2561 | 08:18 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กระทรวงพาณิชย์ รายงานของผลการทบทวนรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาประจำปี 2560 (2017 Out-of-cycle Review of Notorious markets) ว่าไม่ปรากฏชื่อย่านการค้าหรือศูนย์การค้าในประเทศไทยเป็นตลาดที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา หรือยูเอสทีอาร์ (USTR)

โดยในรายงานระบุว่า ตั้งแต่ปี 2550 - 2559 สำนักงานยูเอสทีอาร์รายงานว่าประเทศไทยมีย่านการค้าหรือศูนย์การค้าที่เคยถูกระบุว่าเป็นตลาดที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจำนวน 13 แห่ง ได้แก่ ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า คลองถม สะพานเหล็ก บ้านหม้อ ตลาดนัดจตุจักร ศูนย์การค้ามาบุญครอง ตลาดนัดถนนวิทยุ ถนนสุขุมวิทซอย 3-19 พัฒน์พงษ์ หาดกะรน และหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ศูนย์การค้าไอทีซิตี้พัทยา และตลาดโรงเกลือ จังหวัดสระแก้ว พร้อมกับระบุว่าตลาดโรงเกลือ เป็นตลาดขายปลีกและส่ง สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ใหญ่ที่สุดในไทย

pantip

จากนั้นปี 2560 กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดทำความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรของไทยประกอบการทบทวนรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาประจำปี 2560 และส่งให้สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน เพื่อยื่นต่อสำนักงานยูเอสทีอาร์ และสำนักงานยูเอสทีอาร์ได้เผยแพร่รายงานผลการทบทวนรายชื่อตลาดฯประจำปี 2560 ทั้งตลาดที่มีการขายสินค้าละเมิดและตลาดออนไลน์

"โดยในปีนี้ไม่ปรากฏชื่อย่านการค้าหรือศูนย์การค้าในประเทศไทย เป็นตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแม้แต่แห่งเดียวและสหรัฐอเมริกาได้ชื่นชมนโยบายและผลการดำเนินการของไทย"

บาร์ไลน์ฐาน

อย่างไรก็ตามคณะรัฐมนตรีได้มีมติ ให้หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กองทัพเรือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมศุลกากร กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าต่างประเทศ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานกสทช. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ดำเนินการปราบปรามอย่างจริงจังและต่อเนื่องต่อไป ทั้งตลาดและตลาดออนไลน์ รวมทั้งการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบอื่น ได้แก่ การละเมิดลิขสิทธิ์รายการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก การผลิต นำเข้า จำหน่าย หรือมีไว้จำหน่าย หรือรับติดตั้งกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์โดยไม่ได้รับนุญาต

ทั้งให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจทั้งส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น สอดส่องดูแลไม่ให้มีการนำจำหน่ายในพื้นที่ของตน หากพบให้พิจารณายกเลิกสัญญาเช่ากับผู้จำหน่าย ยกเลิกการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ หรือดำเนินการมาตรการทางปกครองตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว