เอกชนจี้โละก.ม.ล้าสมัย แนะเลิกที่จอดรถคอนโดแนวรถไฟฟ้า-ราคาลดฮวบ20%

30 ม.ค. 2561 | 04:01 น.
ผู้ประกอบการอสังหาฯแนวรถไฟฟ้า โอดสารพัดกฎหมายล้าสมัยก้าวไม่ทันความเจริญ ตัวการทำต้นทุนพุ่ง นอกจากที่ดินแพง ดีเวลอปเปอร์กระทุ้งต่อ เลิกที่จอดรถ “อนันดา” การันตีขายถูกลง 20% กทม.ยันรอกรมโยธาฯเดินหน้า

ขณะที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” อย่างไรก็ตาม ในมุมของผู้ประกอบการยังมองกฎหมายไม่เอื้อต่อการพัฒนาของภาคเอกชน จึงมีความพยายามอย่างต่อเนื่อง ที่จะขอยกเลิกกฎหมาย ซึ่งล้าหลัง เพื่อลดต้นทุน มีพื้นที่ขายเพิ่ม ขณะที่หน่วยงานภาครัฐผู้ควบคุมกฎ มองว่า หากไม่มีกติกา อาจทำให้สังคมวุ่นวายตามมา

[caption id="attachment_52352" align="aligncenter" width="397"] K Chanond 4 ชานนท์ เรืองกฤตยา[/caption]

นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คอนโดมิเนียม ปี 2561 ทำเลแนวรถไฟฟ้ายังมีความต้องการต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่าราคาขายจะแพงจนผู้บริโภคจับต้องยาก ทั้งนี้ตัวแปรสำคัญนอกจากราคาที่ดินแล้ว กฎระเบียบที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายฉบับไม่เอื้อต่อการพัฒนา แต่กลับผลักให้เป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องบวกเข้าไปในราคาบ้าน

โดยเฉพาะกฎกระทรวงเกี่ยวกับที่จอดรถควรยกเลิกสำหรับคอนโดมิเนียมที่สร้างติดรถไฟฟ้า และเปลี่ยนมาพัฒนาพื้นที่ขายจะช่วยให้คอนโดมิเนียมราคาถูกลง 20% นายชานนท์กล่าวต่อว่า เมื่อไม่มีที่จอดรถก็จะเลือกใช้บริการรถไฟฟ้าที่รัฐบาลลงทุน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า หรือเลือกใช้บริการแกร็บ แท็กซี่ และ อูเบอร์ แทน นอกจากนี้ควรยกเลิกสัดส่วนการถือครองห้องชุดของคนต่างชาติโดยให้สิทธิ์ซื้อคอนโดมิเนียม เต็มที่ 100% ไม่ควรจำกัดเพียง 49% เพราะกรรมสิทธิ์ได้แค่ที่อยู่อาศัยแต่ไม่สามารถนำติดตัวกลับประเทศได้

MP29-3335-A สอดคล้องกับ นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ และที่ปรึกษาสมาคมอาคารชุดไทยได้ผลักดันให้กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรุงเทพมหานคร ยกเลิกบังคับทำที่จอดรถใกล้แนวรถไฟฟ้า รัศมี 500 เมตร เนื่องจากคนส่วนใหญ่ใช้รถไฟฟ้า หากไม่ยกเลิกจะส่งผลให้เป็นต้นทุนต่อหน่วยแพงขึ้นนอกจากราคาที่ดิน

[caption id="attachment_43911" align="aligncenter" width="334"] ธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ และที่ปรึกษาสมาคมอาคารชุดไทย และประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท นิรันดร์กรุ๊ปฯ ธำรง ปัญญาสกุลวงศ์
นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ และที่ปรึกษาสมาคมอาคารชุดไทย และประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท นิรันดร์กรุ๊ปฯ[/caption]

แหล่งข่าวจากกรุงเทพ มหานครกล่าวว่าที่ผ่านมากทม.เสนอกรมโยธาธิการและผังเมือง แก้ไขกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับที่ 7 ว่าด้วยเรื่องการจัดให้มีที่จอดรถยนต์ พ.ศ. 2517 ที่มีคน 2 กลุ่ม เรียกร้อง ประกอบด้วยกลุ่มแรกประชาชนอาศัยรอบคอนโดมิเนียม และผู้ซื้อคอนโดมิเนียม ร้องผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ว่าควรบังคับให้มีที่จอดรถทุกห้องทุกคนทุกคัน

ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้คอนโดมิเนียมสูง-ใหญ่พิเศษต้องจัดให้มีที่จอดรถ 120 ตารางเมตรต่อรถยนต์ 1 คัน ทำให้ผู้ประกอบการ มักนำพื้นที่อาคารอยู่อาศัยเป็นตารางเมตร หารด้วย 120 ตารางเมตรซึ่งเป็นขนาดที่จอดรถ ทำให้ต่ออาคารจะมีที่จอดรถประมาณ 30-40% ของพื้นที่อยู่อาศัยทั้งหมด เช่น อาคารสูง 20 ชั้น 5 ชั้นแรกเป็นที่จอดรถ โดยนำพื้นที่ 15 ชั้นของห้องชุดหารด้วย 120 ตารางเมตร จะได้ช่องจอดรถว่ามีกี่คัน เป็นต้น

“ในความเป็นจริงแทบทุกห้องจะมีรถยนต์ ทำให้เกิดปัญหาแย่งที่จอดรถและต้องนำไปจอดตามไหล่ทางสร้างความเดือดร้อนให้ผู้สัญจรทั่วไปขณะที่ซีกผู้ประกอบการเสนอขอยกเลิกที่จอดรถหากอยู่ในรัศมีรถไฟฟ้าเพื่อบีบให้ผู้อยู่อาศัยใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐจัดให้และนำพื้นที่จอดรถเดิมนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่ขาย อย่างไรก็ดีรอกรมโยธาฯตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎกระทรวงดังกล่าว”

ด้านนายเลิศมงคล วราเวณุชย์ เลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เสนอขอยกเลิกเรื่องที่จอดรถมาโดยตลอด รวมทั้งกฎหมายอื่นที่ล้าสมัย ดูจาก กทม. แม้มีรถไฟฟ้าผ่านหน้าโครงการ แต่ต้องกันพื้นที่ 120 ตารางเมตรต่อรถ 1 คัน และนนทบุรีกำลังนำไซซ์เดียวกับกทม.มาใช้ แม้จะมีที่จอดรถแบบไฮดรอลิกทดแทนแต่รัฐยังต้องการที่จอดรถแบบปูนมากกว่า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,335 วันที่ 28 - 31 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9