สภา.กทม.ผ่านร่างข้อบัญญัติจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย

10 ม.ค. 2561 | 12:26 น.
สภา.กทม.ผ่านร่างข้อบัญญัติเล็งจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย

10 ม.ค. 61 ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 1 (ครั้งที่ 1) พ.ศ.2561 โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายจักกพันธุ์ ผิวงาม นางวรรณวิไล พรหมลักขโณ นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ พล.ต.ท.ชินทัต มีสุข รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารฝ่ายข้าราชการประจำ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายคำรณ โกมลศุภกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ได้พิจารณาร่างข้อบัญญัติตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เสนอเพื่อกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียแล้วเห็นว่า สภากรุงเทพมหานครควรมีมติรับหลักการร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครด้วยเหตุผลที่ว่า “ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อมลพิษนั้น” ทั้งนี้คณะกรรมการวิสามัญได้มีข้อสังเกต ดังนี้

BMC

1.ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย พ.ศ.2547 มีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 2547 นับเป็นเวลา 17 ปีแล้ว แต่ไม่สามารถนำออกใช้ปฏิบัติได้จริง เนื่องจากไม่มีการออกประกาศกรุงเทพมหานคร ในส่วนของพื้นที่รับบริการบำบัดน้ำเสีย โดยมีสาเหตุจากปัญหาเชิงการบริหารจัดการ 2.เพื่อให้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครมีผลใช้บังคับและปฏิบัติได้ในเวลาอันสมควร ควรให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจัดทำระเบียบและประกาศกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้องกับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย (ฉบับที่...) พ.ศ..... นับแต่วันที่ข้อบัญญัติ ฯ มีผลบังคับใช้ภายในกำหนดเวลาไม่เกิน 1 ปี

3.ในร่างข้อบัญญัติฯ ควรกำหนดให้มีการมอบให้สำนักงานเขต ดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียได้ด้วย โดยให้มีการบูรณาการระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของสำนักงานเขตให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งระบบ 4.ให้กำหนดกรอบอัตราค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร ในบัญชีแนบท้ายของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ด้วย 5.ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ฉบับนี้น่าจะเข้าข่ายต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ฝ่ายบริหารควรศึกษาและพิจารณาว่าสมควรจัดทำการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหรือไม่ และ

BMC1

6.ร่างข้อบัญญัติ ข้อ 10/1 ที่กำหนดว่า “ในกรณีจำเป็นกรุงเทพมหานครอาจมอบให้เอกชนการทำกิจการซึ่งอยู่ในอำนาจของกรุงเทพมหานคร และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมค่าบริการ หรือค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องแทนกรุงเทพมหานครได้ นอกจากนี้คณะกรรมการวิสามัญฯ มีความเห็นว่า ควรเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่น เช่น ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร ดำเนินการแทนได้ด้วย และหากจำเป็นก็อาจดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528

ทั้งนี้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบกับญัตติฯ ดังกล่าว โดยตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ 15 คน ประกอบด้วยฝ่ายบริหารกทม. 6 คน ฝ่ายนิติบัญญัติ 9 คน กำหนดการศึกษา 90 วัน

e-book