เปิดโมเดลจีนแก้จน (1) ‘แก้ตรงจุดหลุดพ้นความจน’

01 ม.ค. 2561 | 05:25 น.
TP06-3327-1 วิธีการช่วยเหลือคนจนส่วนใหญ่ รัฐบาลมักจะให้เงินกับคนจนในอัตราเท่าๆ กัน แต่การช่วยเหลือคนจนของจีนไม่ได้เป็นเช่นนั้น รัฐบาลจีนสามารถช่วยให้ประชากรหลุดพ้นจากความยากจนปีละ 10 ล้านคนได้อย่างไร กำลังเป็นที่จับตาจากทั่วโลกรวมถึงไทยด้วยเช่นกัน

กว่า 30 ปีหลังการเปิดประเทศ จีนได้สร้างสถิติโลกใหม่ ด้วยการช่วยให้ผู้คนกว่า 800 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 70% ของคนจนทั่วโลก ให้หลุดพ้นจากความยากจน แต่บนแผ่นดินจีนเองก็ยังมีคนจนหลงเหลือกว่า 70 ล้านคน ซึ่งภายหลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีจีน เมื่อปี 2556 นายสี จิ้นผิง ได้กำหนดให้มีมาตรการในการขจัดความยากจนทั่วประเทศ และจะต้องทำให้คนจนหมดสิ้นไปภายในปี 2563

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายว่า ต้องไม่มีท้องถิ่นใด ไม่มีประชาชนคนไหนถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังอย่างเด็ดขาด “นโยบายช่วยเหลือผู้ยากจนอย่างตรงจุด” ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จึงเริ่มขึ้นในปี 2558

ผ่านไปเพียงปีแรก 2559 จีน บรรลุเป้าหมายขจัดความยากจนที่กำหนดไว้ได้ 10 ล้านคนและยังเดินหน้าที่จะลดประชากรผู้ยากจนอีก 10 ล้านคนในปี 2560 การขจัดความยากจนของจีน เป็นความสำเร็จที่ทั่วโลกต่างจับตามองว่า จีนทำได้อย่างไรในการลดจำนวนประชากรยากจนลงได้ปีละ 10 ล้านกว่าคน

TP06-3327-2 ในอดีต จีนใช้มาตรการช่วยเหลือคนจนแบบที่เรียกว่า “ตัดเสื้อไซซ์เดียวใส่ได้ทั้งบ้าน” เพราะขณะนั้นจำนวนคนจนมีมาก กระจายอยู่ทุกพื้นที่ วิธีเดียวก็ใช้ได้หมดทั้งประเทศ แต่เมื่อจำนวนคนจนลดลง การจะใช้วิธีเดิมๆ เอาเสื้อฟรีไซซ์แจกให้ทุกคนใส่ จึงทำไม่ได้อีกต่อไป จะต้องพิถีพิถันออกแบบตัดเย็บเป็นตัวๆ ให้เหมาะกับผู้ใส่แต่ละราย หรือที่จีนเรียกว่า “การช่วยเหลือผู้ยากจนอย่างตรงจุด” ซึ่งจะทำให้ตรงเป้าหมายและแม่นยำกว่า

จากจำนวนประชากรกว่า 1,400 ล้านคน รัฐบาลจะวิเคราะห์ถึงปัญหาความยากจนเจาะลึกไปถึงระดับครอบครัว จากนั้นจะวางแผนช่วยเหลือให้เหมาะสมแต่ละบุคคลไว้ พร้อมกับส่งเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์เข้าไปตรวจสอบและพูดคุยกันแบบตัวต่อตัว เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลของสมาชิกในครอบครัว ทั้งที่เกี่ยวกับสุขภาพ รายได้ ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ รวมถึงปัญหาความลำบากที่พวกเขากำลังประสบอยู่

ในระหว่างปี 2556-2558 เจ้าหน้าที่รัฐกว่า 2 ล้านคน กระจายกันไปเก็บข้อมูลกับกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศไว้ได้กว่า 89 ล้านแห่ง เท่ากับว่าจะมีโครงการช่วยเหลือคนจนกว่า 89 ล้านโครงการเช่นกัน ซึ่งที่ต้องมากขนาดนั้น ก็เพราะแต่ละบุคคล แต่ละครอบครัว มีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป บางคนมีเงินทุนน้อย บางคนขาดทักษะการทำงาน บางคนต้องเลี้ยงดูคนชราในครอบครัว และบางหมู่บ้านแม้แต่การสัญจรไปมาเองก็ลำบาก ทำให้มีปัญหาในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร

เพื่อทำให้โครงการบรรลุเป้าหมายสูงสุด รัฐบาลจีนได้จัดตั้งกองทุนออกเป็นหลายๆประเภท เพื่อแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันของแต่ละหมูบ้าน โดยต้องดำเนินการจากความเป็นจริง ปรับให้เหมาะกับสภาพพื้นที่นั้นๆ บางหมู่บ้านสนับสนุนการท่องเที่ยว บางหมู่บ้านต้องสร้างถนน สะพาน เพื่อช่วยเพิ่มยอดขายให้ผลผลิต ขณะที่ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถทำงานได้ จะได้รับเบี้ยยังชีพคนชราจากรัฐบาล ส่วนผู้ที่ขาดทักษะทางวิชาชีพก็จะได้รับการอบรมเสริมสร้างอาชีพ

นี่คือวิธีการของจีนในการช่วยให้ผู้คนหลุดพ้นจากความยากจนด้วยการสร้างแผนปฏิบัติการตามสภาพการของหมู่บ้านและตัวบุคคลที่แตกต่างกัน ซึ่งไทยกำลังเดินตามรอยในการแก้ไขปัญหาความยากจนเช่นเดียวกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,327 วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 - 3 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9