ผุดโรงงานมอ’ไซค์ไฟฟ้า ‘อีทราน’ทุ่ม 200 ล้านประกอบในไทย ดันส่งออกอาเซียน

09 ธ.ค. 2560 | 11:00 น.
สตาร์ตอัพไทย“อีทราน” จับมือพาร์ตเนอร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ผุดโรงงานประกอบรถจักรยาน ยนต์ไฟฟ้าย่านลาดกระบัง พร้อมเดินเครื่องผลิตกลางปี 2561 ชู 2 โมเดลรุ่น “คราฟ” เคาะราคาไม่เกิน 7.5 หมื่นบาท และรุ่น “พร้อม” เจาะกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์และลูกค้าทั่วไป คาดราคา 6.7 หมื่นบาท

นายสรณัญช์ ชูฉัตร ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตและพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ไทย “อีทราน” เปิดเผยว่า หลังจากเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้แนะนำรถจักรยาน ยนต์ไฟฟ้ารุ่น“อีทราน พร้อม” เพื่อเจาะกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจสอบถามข้อมูล รวมถึงการเป็นตัวแทนจำหน่ายพอสมควร ล่าสุดในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2017 ได้พัฒนารถรุ่นใหม่ชื่อ “อีทราน คราฟ” (ETRAN KRAF) เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าทั่วไป

สำหรับอีทรานมาพร้อมเทคโนโลยี ETRAN E1 ใช้มอเตอร์กำลัง 7kW สามารถวิ่งได้ในระยะทาง 150 กิโลเมตร และใช้เวลาชาร์จไฟประมาณ 1 ชั่วโมง หรือหากเป็นควิกชาร์จ จะใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมง การทำตลาดแบ่งเป็น “อีทราน คราฟ” ราคาประมาณ 7.5 หมื่นบาท และ “อีทราน พร้อม” จะแบ่งเป็นรุ่นขายทั่วไป ราคาไม่เกิน 6.7 หมื่นบาท และรุ่นสำหรับกลุ่มจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งเป็นลักษณะการเช่าขับ

mp32-3320-a “ความแตกต่างของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กับรถจักรยานยนต์ทั่วไปที่มีถังนํ้ามัน ค่อนข้างเห็นเด่นชัดในแง่ของดีไซน์ ส่วนสมรรถนะก็เร็วกว่ารถนํ้ามัน หรือมีโหมดการขับขี่แบบเรซซิ่ง ซึ่งเราเชื่อว่ากลุ่มลูกค้าที่ชอบความแตกต่าง รักในอิสระ จะหันมามองอีทราน พร้อมสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าด้วยการรับประกันสินค้า 5 ปีทุกชิ้นส่วน ตั้งเป้าหมายยอดขาย 1,000 คันต่อปี”

นายสรณัญช์ กล่าวเพิ่มเติมว่า รถจักรยานยนต์รุ่นใหม่จะเจาะตลาดแมส ดังนั้นในปีหน้าจะมีการลงทุนครั้งใหญ่ ด้วยการสร้างโรงงานประกอบย่านลาดกระบัง เบื้องต้นวางงบลงทุนไว้ 200 ล้านบาท คาดว่ากลางปีหน้าจะแล้วเสร็จ โดยการลงทุนครั้งนี้มีพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจจาก 2 ประเทศคือ ไต้หวัน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่ และญี่ปุ่น ที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบชาร์จไฟ

ส่วนช่องทางการขาย จะแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในจังหวัดต่างๆซึ่งการลงทุนเบื้องต้นประมาณ 1 ล้านบาท โดยรถจะไปพร้อมกับตู้ชาร์จไฟ หากเป็นจังหวัดขนาดเล็ก เริ่มที่ 1 ตู้ แต่หากเป็นจังหวัดใหญ่จะติดตั้งตู้ชาร์จไฟ 5-10 ตู้

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 “เราวางแผนธุรกิจของดีลเลอร์ไว้คร่าวๆ โดยรายได้ของดีลเลอร์นอกจากจะขายรถแล้ว ยังมีรายได้จากตู้ชาร์จไฟ ซึ่งที่ชาร์จเราใช้เทคโนโลยีของญี่ปุ่น ที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพความปลอด ภัยสูงสุด เหนืออื่นใดหากในอนาคตมีจำนวนการผลิตหรือจำนวนการขายที่มากพอ อาจมีการคำนวณเรื่องราคากันอีกครั้ง ซึ่งในระหว่างนี้บริษัทมีการสอบถามถึงราคาที่ลูกค้าแต่ละคนต้องการ และจะนำไปพิจารณาก่อนที่จะเปิดราคาขายอย่างเป็นทางการอีกรอบ”

นอกจากตลาดในประเทศแล้ว ความคืบหน้าในตอนนี้คือมีพันธมิตรจากอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ที่ให้ความสนใจ โดยเป็นการจับมือกันในลักษณะของเอ็กซ์คลูซีฟ พาร์ตเนอร์ ซึ่งบริษัทจะเริ่มนำรถไปให้ทดสอบในเดือนมกราคม 2561 หากผลการตอบรับดีก็จะเริ่มทำตลาดได้กลางปี 2561

“พาร์ตเนอร์จากทั้ง 2 ประเทศมีความแข็งแกร่งและมีความเชี่ยวชาญ โดยจะนำชิ้นส่วนแบบซีเคดีจากเราและนำเข้าไปประกอบในประเทศนั้นๆ ส่วนประเทศ อื่นๆรอบข้างเราทั้ง ลาว, เมียนมา, เวียดนามก็ให้ความสนใจอย่างมาก เพราะประเทศเหล่านี้ชอบและเชื่อมั่นคุณภาพสินค้าที่มาจากไทย”นายสรณัญช์กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,320 วันที่ 7 - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว