กรมสุขภาพจิต แนะผู้ประสบภัยน้ำท่วมใต้ใช้ “หลัก 3 ส.” ปฐมพยาบาลใจ บรรเทาทุกข์ เบื้องต้นเพื่อนบ้าน

01 ธ.ค. 2560 | 11:48 น.
กรมสุขภาพจิต แนะผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ทุกคน ร่วมดูแลใจเพื่อนประสบภัยที่มีทุกข์ทางใจ ผ่อนหนักให้เป็นเบา ด้วยหลักปฐมพยาบาลใจ  3 ส. คือ สอดส่องมองหาผู้ที่มีอาการผิดปกติ เช่นร้องไห้ ซึมเศร้า  พร้อมใส่ใจรับฟังอารมณ์ความรู้สึก ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น  อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว  ในรายที่ยังไม่ดีขึ้น เครียดรุนแรง  เศร้าซึม หรือมีความคิดเบื่อโลก ให้รีบแจ้ง ส่งต่อให้บุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ทันที เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที   เผยในรอบ 5 วันหลังน้ำท่วม พบผู้ประสบภัยที่นราธิวาสและยะลามีความเครียดสูง  นอนไม่หลับ ซึมเศร้า ต้องดูแลใกล้ชิด 87 คน

319015 นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์  อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่าเกี่ยวกับความคืบหน้าการดูแลสุขภาพจิตผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้ขณะนี้ว่า  กรมสุขภาพจิตได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลทุกระดับ จัดทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท ( Mental  Health Crisis Assessment and Treatment Team :MCATT)  ออกให้การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะการดูแลกลุ่มเสี่ยงเกิดผลกระทบจิตใจเช่น กลุ่มเด็ก หญิงตั้งครรภ์  ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยติดเตียง  ครอบครัวผู้เสียชีวิต หรือสูญเสียทรัพย์สิน  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคซึมเศร้า  โดยหลังน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นมา  ทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท ได้ตรวจคัดกรองสุขภาพจิตผู้ประสบภัยกลุ่มเสี่ยงแล้ว กว่า 2,115 คน พบมีความเครียดระดับสูง นอนไม่หลับ มีอาการซึมเศร้า รวม  87 ราย  ประกอบด้วยจ.นราธิวาส 32 ราย  และยะลา 55 ราย

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า  เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้กระจายเป็นบริเวณกว้าง  มีประชาชนได้รับผลกระทบ  360,000 กว่าคน ใน 2,490 หมู่บ้าน ใน 8 จังหวัด คือ พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช ปัตตานี สงขลา นราธิวาส ยะลา และสุราษฎร์ธานี   ผลจากน้ำท่วมอาจทำผู้ประสบภัย เกิดความเครียด  นอนไม่หลับ    มีอารมณ์หงุดหงิด  สิ้นหวัง  สับสน  คิดมาก อาจตัดสินใจได้ไม่ดี  วิธีการเบื้องต้นที่จะช่วยผ่อนคลายความทุกข์ ลดความเจ็บปวดทางใจ ผ่อนหนักให้เป็นเบาระหว่างผู้ประสบภัยด้วยกันอย่างได้ผลดี  ขอแนะนำให้ประชาชนใช้ หลัก 3 ส.  หรือหลัก 3 แอล (L) ช่วยปฐมพยาบาลทางใจ  ซึ่งสามารถใช้ได้กับทุกคนและทุกสถานการณ์

264559 ส.ที่ 1 คือ สอดส่องมองหา( look) ช่วยกันสังเกต มองหาผู้ประสบภัยที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เช่น ผู้ที่ร้องไห้  มีอาการซึมเศร้า เสียใจรุนแรง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ  ส.ที่ 2.ใส่ใจรับฟัง (Listen) อย่างตั้งใจ รวมทั้งใช้ภาษากาย เช่น จับมือ  โอบกอด เพื่อช่วยให้ผู้สูญเสียบอกเล่าความรู้สึก คลายความทุกข์ในใจออกมา   โดยสามารถให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นพื้นฐาน เช่น น้ำ อาหาร และยา และส.ที่3.ส่งต่อผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจ (Link)  หากอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น มีอาการเศร้าซึมอย่างรุนแรง มีความคิดเบื่อโลก  ให้พยายามติดต่อครอบครัวและแจ้งอาสาสมัครสาธารณสุขหรือ อสม.ในหมู่บ้านหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาจากผู้มีความเชี่ยวชาญอย่างเหมาะสม

“ ขอเน้นย้ำว่า เมื่อพบคนในครอบครัวหรือเพื่อนบ้านที่ผู้ประสบภัย มีอาการเปลี่ยนแปลงจากเดิม เช่น ซึมเศร้า เหงาหงอย เก็บตัวอยู่คนเดียว  นั่งเหม่อลอย  อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว  ขอให้รีบเข้าไปพูดคุย สอบถามทันที  ซึ่งครอบครัว ชุมชน สังคมและบุคคลใกล้ชิด มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ผู้ประสบภัยในภาวะวิกฤตและความสูญเสีย  ได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างถูกต้องเหมาะสมทันท่วงที  สามารถก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างปลอดภัย ”  อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

ด้านแพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชสงขลา จ.สงขลากล่าวว่า ในช่วงน้ำท่วมนี้มีผู้ป่วยจิตเวชขาดนัด เนื่องจากไม่สามารถเดินทางออกจากพื้นที่ได้ประมาณร้อยละ 40 ต่อวัน ได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อ เพื่อดำเนินการจัดส่งยาให้กินอย่างต่อเนื่อง ป้องกันอาการกำเริบ ขณะเดียวกันหากผู้ป่วยจิตเวชรายใด มีปัญหายาสูญหาย สามารถแจ้งที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรืออสม.หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ได้

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว