สรรพากรเร่งปรับแก้กฎหมายเดินหน้าจัดเก็บภาษีออนไลน์

30 พ.ย. 2560 | 10:09 น.
สรรพากรเดินหน้าจัดเก็บภาษีออนไลน์ ปรับร่างแก้ไขภาษีออนไลน์ แยกเป็น 3 ฉบับ “เก็บแวตสำหรับสินค้าส่งทางไปรษณีย์จากต่างประเทศ-นิยามนิติบุคคลในประเทศ-การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดี กรมสรรพากร เปิดเผยถึงแนวทางการจัดเก็บภาษีจากการค้าออนไลน์ว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business)ใหม่ โดยจะแยกทำเป็น 3 ร่าง คือ 1. การแก้ไขประมวลรัษฎากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) สำหรับการส่งสินค้าทางไปรษณีย์จากต่างประเทศ มูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ซึ่งจากเดิมจะได้รับยกเว้นอากรนำเข้าทำให้ได้รับยกเว้นแวตไปด้วย

2.การเสียภาษีนิติบุคคล ซึ่งจะต้องนิยามคำว่า สถานประกอบการในประเทศไทยให้ชัดเจน ซึ่งหลักๆ ยังเป็นการโดเมนท้องถิ่นในไทย มีธุรกรรมการซื้อขายเกิดขึ้นในไทย ไม่ว่าจะมีการชำระเงินไทยหรือเงินตราต่างประเทศ โดยที่ธนาคารพาณิชย์ยังมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% นำส่งสรรพากร และ 3.การจัดเก็บแวตจากการซื้อขายออนไลน์

“เราต้องเร่งทำให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อให้ร่างใหม่ขึ้นเว็บสอบความคิดเห็นของประชาชนตาม ม. 77 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้กลางปีหน้า เพราะขณะนี้ทุกคนรู้ว่าประเทศไทยได้รับความเสียหายจากการค้าขายออนไลน์ที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท แต่ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ แต่เมื่อเราทำร่างแรกออกมาก็มีคนที่ปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง จึงมีการแสดงความคิดเห็นเยอะมาก ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เราจึงนำมาปรับใหม่ให้เหมาะสม”นายประสงค์กล่าว

taxo

เช่นเดียวกับการเปิดรับฟังความคิดจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับร่างแก้ไขพ.ร.บ.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ซึ่งมีการแสดงความคิดเห็นเข้ามามากเช่นกัน หลังจากปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ซึ่งล่าสุดทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.) มาหารือและพูดคุยถึงวิธีการต่างๆ ดังนั้น ก็จะมีการปรับใหม่เช่นกัน ให้เป็นไปในทิศทางที่ทุกคนเห็นตรงกัน เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อผู้ปฎิบัติและเป็นธรรม

นายประสงค์กล่าวต่อว่า กรมสรรพากรจะเชิญผู้ประกอบการธุรกิจเหล็กรายใหญ่ในกลุ่มผู้ผลิตต้นน้ำมาชี้แจง ถึงแนวทางการเสียภาษีอย่างถูกต้อง เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ อาจจะมีลักษณะการทำธุรกิจที่ไม่ได้ลงบัญชีถูกต้องและไม่ได้เข้าระบบแวต ทำให้ไม่สามารถออกใบกำกับแวตให้กับผู้รับเหมาหรือผู้ค้าปลายทางได้ ทำให้กรมสรรพากรไม่สามารถจัดเก็บแวตจากผู้ค้าเหล่านี้ได้ และไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีแก่ผู้ประกอบการธุรกิจเหล็กทั้งระบบได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

“เราจะเชิญผู้ผลิตเหล็กระดับต้นน้ำรายใหญ่มาหารือถึงการเสียภาษีอย่างถูกต้อง เพราะทุกวันนี้ไม่สามารถรู้ข้อมูลการค้าขายเหล็กระหว่างทางได้ เนื่องจากผู้ผลิตเหล็กต้นน้ำจะออกบิลขายเหล็กไปยังผู้รับเหมา หรือผู้ผลิตปลายทาง ทำให้กรมฯไม่รู้ข้อมูลการซื้อขายของธุรกิจรายกลางและรายเล็กอื่นๆ เพราะจะไม่ปรากฏรายการการซื้อขายเหล็ก บางรายอาจสร้างบิลปลอมขึ้นมา ก็จะไล่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ”

นายประสงค์กล่าวถึงนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) จัดทำบัญชีเดียวว่า ยังพบว่า มีผู้ประกอบการอีกหลายรายยังทำบัญชีเหมือนเดิม ซึ่งตั้งแต่ออกกฎกระทรวงให้ทำบัญชีเดียวตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2558 เกือบครบสองปี ทำบัญชีเดียวได้เพียง 1.5 แสนราย จากจำนวนเอสเอ็มอีที่ขึ้นทะเบียนกว่า 3 แสนราย ซึ่งมีทั้งอุปโภคบริโภค ร้านอาหาร ซื้อขายทั่วไป ธุรกิจร้านทอง ร้านซ่อมรถ ร้านขายยา ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กำหนดให้สถาบันการเงินพิจารณาปล่อยสินเชื่อจากบัญชีเดียวเท่านั้น

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

“งบการเงินของผู้ประกอบการในปี 2561 ถือว่าจะสำคัญมากที่จะทำให้ถูกต้อง เพราะจะมีผลต่อการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินด้วย ซึ่งหากยังใช้บัญชีรูปแบบเดิมคงต้องเผชิญความเสี่ยงอีกหลายด้าน เพราะปัจจุบันรัฐบาลเริ่มส่งเสริมให้ประชาชนใช้เงินผ่าน QR-Code, รูดบัตรผ่านเครื่อง EDC ซึ่งการซื้อขายแบบไร้เงินสดเหล่านี้ จะปรากฎข้อมูลอยู่ในระบบ เมื่อมีหลักฐานการใช้จ่าย แต่ไม่ยอมลงบัญชี การใช้ดุลพินิจผ่อนปรนเหมือนเดิมจะช่วยเหลือไม่ได้อีกต่อไป”

นอกจากนั้นหลังจากกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)คุมเข้ม เรื่องการฟอกเงิน ตามข้อตกลงของ FATF โดยกำหนดให้กรมสรรพากรต้องส่งเรื่องไปยัง ปปง.แจ้งดำเนินคดีผู้หลีกเลี่ยงภาษีที่เข้าข่ายการฟอกเงิน โดยที่ผ่านมาได้ส่งเรื่องให้ปปง.ไปแล้วนับหมื่นล้านบาท ซึ่งกฎหมาย ปปง. เรื่องการฟองเงินลงโทษรุนแรงกว่าสรรพากรมาก ดังนั้น หากมีการลงบัญชีที่ไม่ถูกต้องและมีส่วนเกี่ยวข้องเข้าข่ายองค์ประกอบกระทำความผิดปปง.ด้วย ผู้ประกอบการต้องร่วมรับผิดด้วย ซึ่งกรมสรรพากรไม่ต้องการให้เกิดขึ้นเช่นนั้น

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว