ล้างบาง! ธุรกิจทัวร์ บีบไกด์ขึ้นทะเบียน ลุยปราบโอเอ รายใหม่โผล่ฮุบ

08 ต.ค. 2560 | 06:35 น.
รัฐบาลไล่บี้จัดระเบียบธุรกิจท่องเที่ยว รับทัวริสต์ 36 ล้านคน รายได้ทะลุ 3 ล้านล้านบาท ตำรวจท่องเที่ยวแท็กทีม ลุยปราบธุรกิจผิดกฎหมาย ทัวร์ศูนย์เหรียญ เปิดให้ไกด์ 7.2 หมื่นคนรายงานตัว ปูดรายใหม่โผล่คุมทัวร์จีน

พลตำรวจโท สาคร ทองมุณี รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวของประเทศ เพราะเป็นการสร้างรายได้หลักเข้าประเทศ เพราะ มีอัตราการเติบโตและสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลประกาศให้ปี 2561 เป็นปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน จึงยกฐานะของกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ที่ตั้งมากว่า 15 ปีที่ผ่านมาขึ้นเป็นกองบัญชาการ ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) ปี 2560 ที่เพิ่งมีผลเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมาภารกิจของกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว จะมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฏหมายที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว อำนวยความสะดวก ดูแลรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยวเป็น การเฉพาะ ซึ่งกองบัญชาการตำรวจ ท่องเที่ยว จะมีการแบ่งความรับผิดชอบออกมาเป็น 3 กองบังคับการ เพื่อดูแลนักท่องเที่ยวให้ครอบคลุมในแต่ละพื้นที่ โดย กองบังคับการท่องเที่ยว 1 ดูแลพื้นที่นครบาลภาค1,2,3 กองบังคับการท่องเที่ยว 2 ดูแลพื้นที่ภาคเหนือภาคอีสาน และกองบังคับการท่องเที่ยว 3 ดูแลพื้นที่ภาค 7 ส่วนล่างและภาคใต้

จี้ปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ
นอกจากนี้ ยังมีกองกำกับการควบคุมธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ขึ้นตรงกับผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ทำหน้าที่ปราบปรามมัคคุเทศก์เถื่อน ทัวร์ผิดกฎหมาย แรงงานผิดกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ดังนั้นภารกิจเร่งด่วนของกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวจึงจะต้องมีแผนปฏิบัติการในการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว รวมถึงการปราบปรามธุรกิจท่องเที่ยวที่ผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย

P01-3303-a “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องการให้ปราบปรามเรื่องของทัวร์ศูนย์เหรียญ ธุรกิจผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว โกงนักท่องเที่ยว ทัวร์เถื่อน ไกด์เถื่อน โดยเฉพาะทัวร์ศูนย์เหรียญจะต้องปราบปรามให้เด็ดขาด และยังต้องดำเนินการตามแผนพัฒนาท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ 2 ปี2560-2564 เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เป็นรายได้หลักของประเทศ”

ดังนั้น การทำงานของกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว จะเน้นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กรมการท่องเที่ยว, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค, กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจฯ, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อปราบปราบธุรกิจผิดกฎมายและการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ จะต้องประชุมร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว มาทำความเข้าใจให้ตรงกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องไปแล้ว และยํ้าจุดยืนถึงการบูรณาการทำงานกับหน่วยงานหลักต่างๆเพื่อดำเนินการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ ทัวร์ผิดกฏหมาย โดยจะจับกุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการดำเนินคดีกับทางกลุ่มโอเอ ทรานสปอร์ต บริษัทลูกของกลุ่ม รอยัล เจมส์ ในเรื่องของทัวร์ศูนย์เหรียญอย่างจริงจัง ทำให้กลุ่มทัวร์ศูนย์เหรียญหันมาทำทัวร์คุณภาพเพิ่มขึ้น มีการเสียภาษีและรับผิดชอบมากขึ้น แต่ยังมีทัวร์อีกกว่า 10 ราย ที่ทางตำรวจต้องจับตาดู

ขณะนี้ทางกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว อยู่ระหว่างการจัดสรรกำลังพลเพิ่มจากเดิมที่มีอยู่ราวกว่า 1 พันคน เพิ่มมาเป็น 4 พันคน โดยนายกรัฐมนตรีจะอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีกกว่า 500 ล้านบาท จากเดิมที่ได้รับการจัดสรรก่อนหน้านี้ตอนนี้ราว 600 ล้านบาท เพื่อนำมาลงทุนบุคลากร และก่อสร้างที่ทำการของกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลนักท่องเที่ยวที่เข้าไทยอย่างต่อเนื่องปีละไม่ตํ่ากว่า 10% และในปีหน้าคาดว่าจะมีไม่ตํ่ากว่า 35 ล้านคน

สั่งขึ้นทะเบียนไกด์
นายอุดม มัตสยะวินิชกูล ผู้อำนวยการกองทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า ในขณะนี้กองทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กำลังอยู่ระหว่างการจัดระเบียบมัคคุเทศก์ โดยอยู่ระหว่างการเปิดให้มัคคุเทศก์ที่เคยขึ้นทะเบียนไว้ซึ่งมีอยู่ 7.2 หมื่นคนทั่วประเทศ เข้ามารายงานตัวว่า ปัจจุบันยังคงประกอบอาชีพไกด์อยู่หรือไม่ โดยเปิดให้มารายงานจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้

“การเปิดให้ไกด์เข้ามารายงานตัว เป็นไปตามการเปลี่ยน แปลงบัตรไกด์ใหม่ ตามพ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ฉบับใหม่ ที่อยู่ในชั้นกฤษฎีกา ซึ่งจะมีบัตรไกด์เฉพาะภูมิภาคขึ้นมา ซึ่งจะเปิดโอกาสให้คนที่มีบัตรไกด์เฉพาะพื้นที่ สามารถมาเป็นไกด์ได้ในหลายจังหวัดที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ กลาง อีสาน ส่งผลให้เกิดการขยายพื้นที่ของไกด์ในการให้บริการนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น

tp1-3303-AB

จี้เพิ่มโทษโรงแรมเถื่อน
นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ทีเอชเอ ได้ ร่วมหารือกับ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการท่องเที่ยวฯ หารือถึงการเพิ่มบทลงโทษโรงแรมที่ไม่มี ใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ คือ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่การปรับต่อวันก็จะเพิ่มเป็น 2 หมื่นบาทต่อวันตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน โดยในการเสนอเพิ่มบทลงโทษยังอยู่ในขั้นตอนออกเป็นกฎกระทรวง จากเดิมมีโทษแค่จำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

ทีเอชเอ ยังได้เสนอให้หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ในการจับกุมแจ้งข้อหาพ.ร.บ. ควบคุมอาคาร ซึ่งจะสามารถทำการปิดกิจการโรงแรมเหล่านี้ได้ เนื่องจากที่ผ่านมาแม้จะมีการตั้งโทษปรับแล้วก็ตาม แต่บางโรงแรม ยังเลือกที่จะเสียค่าปรับ เพราะมองว่าก็ยังคุ้มค่ากับรายได้ที่จะได้รับในขณะที่โรงแรมยังเปิดได้อยู่

ปราบโอเอรายใหม่โผล่ฮุบ
แหล่งข่าวจากธุรกิจท่องเที่ยวเปิดเผยว่า มาตรการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญของรัฐบาลที่ดำเนินคดีกลุ่มบริษัทมีพฤติการณ์เกี่ยวพันคดีทัวร์ศูนย์เหรียญ จำนวน 29 บริษัท ในกลุ่มเครือข่ายบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต และกลุ่มบริษัทสยามเจมส์ ความผิดตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 และ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ในขณะนี้ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มเดิมที่ถือเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจที่ดูแลผูกขาดในการซื้อหัวทัวร์จีนกว่าปีละ 5-6 ล้านคนหยุดชะงักลง แต่ได้เกิดกลุ่มทุนใหม่ในธุรกิจทัวร์และธุรกิจรถทัวร์ให้เช่า ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และร้านจิวเวลรีขึ้นมาใหม่ โดยมีอดีตนายตำรวจใหญ่ระดับพลตำรวจเอกอยู่เบื้องหลัง โดยมอบหมายให้ ผู้กอง ม.เป็นผู้ดำเนินการกำกับดูแลการจัดส่งลูกทัวร์ไปยังพัทยา-ลาดกระบัง-คิงเพาเวอร์ ในแต่ละวันด้านกรมสรรพากรได้สั่งเร่งตรวจสอบภาษี ผู้ประกอบธุรกิจทัวร์ศูนย์เหรียญ 12 ราย หลังจากพบว่า บริษัทเหล่านี้ได้หลบเลี่ยงการจ่ายภาษี คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท โดยตรวจสอบงบการเงินพบว่าบริษัทเหล่านี้มีรายได้ปีละ 1-2 พันล้านบาท แต่เสียภาษีน้อยมาก เฉพาะบริษัท โอเอแจ้งว่ามีรายได้แค่ 25 ล้านบาท แต่กรมสรรพากรตรวจสอบพบว่ามีรายได้หลายหมื่นล้านบาทในช่วง 4-5 ปี ทั้งรายได้จากค่าเช่ารถ รายได้จากการขายทัวร์ รายได้จากการขายของที่ระลึก

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ยอมรับว่า กรมสรรพากรได้ส่งเรื่องดำเนินคดีอาญาแล้ว 1 บริษัท คือ บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด ในข้อหาหลบเลี่ยงภาษีวงเงินกว่า 7 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยส่งดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,303 วันที่ 8 - 11 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1