ไทยติดอันดับ 32 ความสามารถทางการแข่งขันโลก

27 ก.ย. 2560 | 11:43 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลกไทยติดอันดับ 32 ของโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (27 กันยายน)  คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ WEF (World Economic Forum) ได้จัดเผยแพร่รายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index : GCI) ซึ่งเปรียบเทียบความสามารถการแข่งขันของ 137 ประเทศทั่วโลก ในปีนี้ประเทศที่ได้อันดับหนึ่งถึงสิบ คือ สวิตเซอร์แลนด์ ตามมาด้วย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ฮ่องกง สวีเดน สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และฟินแลนด์ ตามลำดับ โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 32 โดยมีคะแนน 4.7 จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน

 

1

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ WEF (World Economic Forum) ในประเทศไทย เผยว่า  “ทางคณะฯ เป็นผู้ทำการเก็บข้อมูลเชิงลึก จากแบบสอบถามกับผู้บริหารระดับสูง ขององค์กรขนาดใหญ่และขนาดย่อม ในทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดย WEF ซึ่งนำไปคำนวณดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก โดยมีตัวชี้วัด 114 ตัว จัดแบ่งเป็น 3 กลุ่มใน 12 ด้าน ที่สะท้อนภาพความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ ซึ่งปีนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 32 ด้วยคะแนน  4.7 ซึ่งนับว่าดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 34 และมีคะแนน 4.6

โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ด้านที่มีอันดับที่ดีขึ้นและส่งผลบวกต่อดัชนีความสามารถทางการแข่งขันโดยรวม ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 4.4 เป็น 4.7 โดยเฉพาะในตัวชี้วัดสัดส่วนการเป็นสมาชิกโทรศัพท์เคลื่อนที่ / มือถือ (Mobile - cellular Telephone Subscriptions) นั้น ได้รับอันดับดีขึ้นอย่างมากจากอันดับที่ 55 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับที่ 5 ในปีนี้ สำหรับด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม มีตัวชี้วัดของการเข้าศึกษาในระดับมัธยม จากอันดับที่ 84 ในปีที่แล้ว กระโดดขึ้นเป็นอันดับที่ 8 ในปีนี้ รวมถึงด้านที่บ่งชี้ถึงการพัฒนาของประเทศอย่างชัดเจน อย่างทางด้านนวัตกรรม (Innovation) และด้านความพร้อมเทคโนโลยี (Technological Readiness) ก็ได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ด้วย

 

2

 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นทางด้านการเงินและการตลาด ที่ประเทศไทยได้รับอันดับในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก นั่นคือ การจัดหาเงินทุนผ่านทางตลาดทุนในประเทศ (Financing through Local Equity Market) ความพร้อมของบริการทางการเงิน (Availability of Financial Services) ความแข็งแกร่งของระบบธนาคาร (Soundness of Banks) และ ความเพียงพอของทุนร่วมเสี่ยง (Venture Capital Availability) ซึ่งได้รับอันดับที่ 20  23  27 และ 27 ตามลำดับ ซึ่งบ่งชี้ถึงความพร้อมทางด้านตลาดการเงินของประเทศในการสนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึง ปัจจัยด้านการตลาด (Extent of Marketing) และ ระดับการมุ่งเน้นตอบสนองลูกค้า (Degree of Customer Orientation) ได้รับอันดับที่ 21 และ 25 ตามลำดับ ที่แสดงให้เห็นถึงระดับการพัฒนาในแนวคิดด้านการตลาดเช่นเดียวกัน และเห็นได้ชัดว่าในประเด็นดังกล่าวนั้น  ประเทศไทยได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงในระดับโลก อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศในกลุ่ม ASEAN + 3 ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับไทยเป็นอย่างสูงนั้น ผลปรากฏว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับในลำดับที่ 6  เมื่อเทียบกับกลุ่ม ASEAN+3 ทั้งหมด โดยเป็นรองประเทศ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และ จีน ซึ่งได้รับอันดับเดียวกันกับปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นการสะท้อนสถานะทางการแข่งขันที่มั่นคงของไทยในเวที ASEAN+3 ได้เป็น  อย่างดี”

 

3

รศ.ดร.พสุ เสริมว่า “จะเห็นได้ว่าขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันของประเทศไทยในปีดีขึ้น เนื่องจากนโยบายของรัฐบาล ที่ได้เข้าไปแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการดึงต่างชาติให้เข้ามาลงทุนภายในประเทศ รวมถึงการส่งอัพเดทข้อมูลของประเทศไปยังหน่วยงานที่เป็นองค์กรระดับโลก อย่าง WTO, IMF จะเห็นว่ามีตัวชี้วัดที่ปรับอันดับกระโดดขึ้นสูง ทั้งเรื่องโทรศัพท์มือถือ และการเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา นอกจากนี้ยังมีในส่วนของการขับเคลื่อนของภาคธุรกิจ ที่ปีนี้ส่วนใหญ่ติด Top 30 ของโลกทั้งสิ้น

สำหรับในส่วนที่ยังต้องพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการจัดอันดับให้ดีขึ้น ได้แก่ การบริหารประเทศ  การเมือง กฎหมาย การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การตรวจสอบ และเรื่องของนวัตกรรมที่จะต้องพัฒนาสู่ 4.0 และความพร้อมด้านเทคโนโลยี ที่จะต้องขยายไปสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ”

 

4

ทั้งนี้ การจัดอันดับเปรียบเทียบในภาพรวมของความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศ ที่ปรากฏใน GCI ประกอบไปด้วยรายละเอียด 3 กลุ่มปัจจัย แบ่งเป็น 12 ด้าน (Pillars) ที่รวมเข้าเป็นดัชนีองค์รวมดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มปัจจัยพื้นฐาน (Basic Requirements) ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่การผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศ ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ ทางด้านสภาพแวดล้อมด้านหน่วยงาน (Institutions) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Environment) ด้านสุขภาพและการศึกษาเบื้องต้น (Health and Primary Education) กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มเสริมประสิทธิภาพ (Efficiency Enhancers) ซึ่งจะนำไปสู่ความมีประสิทธิภาพของประเทศ ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ ด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม (Higher Education and Training) ด้านประสิทธิภาพของตลาดสินค้า (Goods Market Efficiency) ด้านประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน (Labor Market Efficiency) ด้านพัฒนาการของตลาดการเงิน (Financial Market Development) ด้านความพร้อมเทคโนโลยี (Technological Readiness) ขนาดของตลาด (Market Size)  และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มนวัตกรรมและระดับการพัฒนา (Innovation and Sophistication) ซึ่งมุ่งเน้นการการผลักดันระดับนวัตกรรมของประเทศ ประกอบด้วย 2 ด้าน คือ ระดับการพัฒนาของธุรกิจ (Business Sophistication) และด้านนวัตกรรม (Innovation)

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว