บสย.ขยายค้ำประกันนอนแบงก์ออกโปรแกรมช่วยเอสเอ็มอีปี2561

23 ก.ย. 2560 | 12:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

บสย.ขยายการให้บริการคํ้าประกันสู่นอนแบงก์ หวังเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น ชี้ขั้นตอนปัจจุบันรอประกาศอย่างเป็นทางการจากกระทรวงการคลังถึงคุณสมบัตินอนแบงก์ ด้านคลังเผยร่างกฎหมายแก้ไขเรียบร้อยแล้ว บสย.คํ้าได้ทันที แย้มรอประชุมบอร์ดก่อนชง ครม. เพื่อประกาศใช้

นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บสย. ได้ดำเนินการขยายการให้บริการคํ้าประกันกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่ไปขอสินเชื่อผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือนอนแบงก์ (Non-bank) เพื่อต่อยอดการให้บริการให้เอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากยิ่งขึ้น คาดว่าในปี 2561 บสย. จะกำหนดหลักเกณฑ์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นมาตรฐานให้เอสเอ็มอีและนอนแบงก์ปฏิบัติตามได้

[caption id="attachment_210251" align="aligncenter" width="503"] นิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)[/caption]

อย่างไรก็ดี ขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนี้ บสย. จะต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการจากกระทรวงการคลังถึงข้อกำหนดอย่างชัดเจนในการคํ้าประกัน ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติของนอนแบงก์ หลักเกณฑ์ในการคํ้าประกัน และประเภทของธุรกิจ เป็นต้น โดยรายละเอียดในเบื้องต้น บสย. จะเข้าไปคํ้าประกันร่วมกับนอนแบงก์ตามที่กำหนดไว้เท่านั้นไม่ใช่เป็นการคํ้าประกันแบบทั่วไป ซึ่งอาจจะเป็นนอนแบงก์ที่อยู่ในตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.), บริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ หรือนอนแบงก์ที่มีสถานะความน่าเชื่อถือ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายที่จะให้ บสย. ขยายการให้บริการคํ้าประกันไปสู่นอนแบงก์ได้ดำเนินการแก้ไข และให้มีผลบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว โดยจะเป็นกฎหมายในลักษณะการเปิดช่องเอาไว้ ซึ่งนอนแบงก์ที่ บสย. จะเข้าไปคํ้าประกันได้ ต้องเป็นนอนแบงก์ที่ผ่านเกณฑ์ และคุณสมบัติตามที่กระทรวงการคลังจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ

[caption id="attachment_162992" align="aligncenter" width="396"] นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ[/caption]

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตั้งข้อสังเกต ผ่านความคิดเห็นก่อนที่จะออกประกาศว่า ควรจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ หรือคุณสมบัติให้ชัดเจนว่านอนแบงก์ที่ บสย. จะเข้าไปคํ้าประกันเป็นอย่างไร เช่น มีเงินกองทุนเป็นอย่างไร หรือมีสภาพคล่องเป็นอย่างไร เป็นต้น โดยขั้นตอนหลังจากนี้ บสย. จะต้องนำเรื่องดังกล่าวนี้เข้าที่ประชุมบอร์ด เพื่อกำหนดแนวทาง และหลักเกณฑ์ในการคํ้าประกัน นำเสนอกลับมาที่กระทรวงการคลังเพื่อออกประกาศ

ทั้งนี้ หากเป็นการเข้าไปคํ้าแบบปกติ บสย. จะสามารถเข้าไปคํ้าประกันนอนแบงก์ได้ทันที แต่หากต้องการขอชดเชยในกรณีที่เข้าไปคํ้าประกัน จะต้องทำเรื่องเสนอมาที่กระทรวงการคลัง เพื่อปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายและนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาเห็นชอบ โดยการดำเนินการดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เอสเอมอีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินจากธนาคารพาณิชย์ได้มีช่องทางในการเข้าถึงเพิ่มเติมจากนอนแบงก์

นายกฤษฎา กล่าวต่อไปอีกว่า เท่าที่รับทราบข้อมูลพบว่าลูกค้าของนอนแบงก์ที่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อให้ได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ทำให้นอนแบงก์ไม่กล้าที่จะปล่อยสินเชื่อให้ หากมี บสย. เข้าไปช่วยคํ้าประกันเชื่อว่าจะทำให้นอนแบงก์ยินดีที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีมากยิ่งขึ้น ส่วนการกำหนดคุณสมบัติของนอนแบงก์ให้ชัดเจน ก็เพื่อไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,298 วันที่ 21 - 23 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1