เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ Z71 ขวัญใจผู้บ่าวขาร็อก

03 ก.ย. 2560 | 12:59 น.
ถือเป็นภาพลักษณ์ที่แข็งโป๊กของเชฟโรเลต กับปิกอัพและเอสยูวีที่พัฒนาบนพื้นฐานเดียวกัน(พีพีวี) ล่าสุดก็หาอะไรทำไปเรื่อยครับ หวังกระตุ้นความสดใหม่ และเพิ่มอาวุธในการสื่อสารการตลาดด้วย “เทรลเบลเซอร์ Z71”

ตัวท็อปของ “เทรลเบลเซอร์” มากับรหัส Z71 (ผู้บริหารยุคนี้ให้อ่านว่า ซีร์-เซเวนตี้วัน ตามสำเนียงอเมริกัน) ที่ถูกใช้ในเกรดท็อปๆ ของปิกอัพโคโลราโด พร้อมดึง “ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์” นักร้องเพลงเพื่อชีวิตที่มีแนวทางและบุคลิกที่เป็นตัวของตัวเองสูง มาเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ ซึ่งผู้บริหารจีเอ็มมองว่าเหมาะมากกับรถรุ่นนี้

MP33-3293-1 ด้านตัวรถมีการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มเข้ามาจากรุ่น LTZ คือ กระจังหน้าเป็นสีเงาดำ สติกเกอร์ Z71 4x4 สีดําด้านบนฝากระโปรงหน้า และฝากระโปรงหลัง กระจกมองข้างและมือจับสีดํา ภายในหัวหมอนรองศีรษะปักลาย Z71 4X4 ล้ออัลลอยสีดํา ขนาด 18 นิ้ว และคิ้วกันกระแทกข้างประตูสีดํา

เรียกว่าคุณจะเลือกสีตัวถังอะไรก็ได้ ทั้ง นํ้าเงิน แดง ขาว เทา นํ้าตาล แต่จะถูกแต้มแต่งด้วยทริมสีดำและสัญลักษณ์ Z71 ตามที่กล่าวมาด้านบน กับราคา 1.499 ล้านบาท (เท่ากับ ฟอร์จูนเนอร์ 2.4V 4WD รุ่นย่อยใหม่) หรือ แพงกว่ารุ่น 4WD LTZ 2 หมื่นบาท

โดย 2 หมื่นบาทที่ว่านอกจากจะเป็นค่าปักหมอนรองศีรษะแล้ว ผมว่าน่าจะเป็นสติกเกอร์ประดักประเดิดที่แปะรอบรถนี่ละครับ เห็นว่าเป็นของ 3M นำเข้ามาจากอเมริกา ซึ่งมีความทนและสีไม่จืดแม้เวลาจะผ่านไปหลายปี

MP33-3293-3 ขณะที่รายละเอียดทางวิศวกรรมยานยนต์อื่นๆ “เทรลเบลเซอร์ Z71” ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เพราะนี่เป็นรุ่นใหม่ที่เพิ่งปรับกันยกใหญ่ไปเมื่อปีที่แล้ว (เครื่องยนต์ เกียร์ และช่วงล่าง) นั่นทำให้เทรลเบลเซอร์รุ่นนี้ ขับดีกว่าโมเดลที่เปิดตัวครั้งแรกมาก (พ.ศ.2555)

โดยความแข็งกระด้าง อาการสะเทือนลดลง แต่ยังคงประสิทธิภาพความหนึบแน่นเกาะถนน ด้วยโครงสร้างช่วงล่างด้านหน้าเป็นปีกนกสองชั้นพร้อมคอยล์สปริงและช็อกอัพแก๊ส หลังเป็นแบบ 5 จุดยึด คอยล์สปริงและช็อกอัพแก๊ส ประกบล้ออัลลอย 18 นิ้ว ขณะเดียวกันยังติดตั้งยางรองแท่นเครื่องยนต์ แท่นเกียร์ และยางรองตัวถังใหม่ เพื่อลดเสียงรบกวนและแรงสั่น

MP33-3293-4 ขณะที่พวงมาลัยแรคแอนด์พิเนียน ผ่อนแรงด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าปรับนํ้าหนักแปรผันตามความเร็ว ตอบสนองพอใช้ได้ มีระยะฟรีเหลือไว้ประมาณหนึ่ง เพื่อความปลอดภัยจากการเป็นรถอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ ส่วนการถอยเข้าจอดหรือเอี้ยวเลี้ยวในที่แคบๆ ไม่ทุลักทุเลจนเกินไป

เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ รุ่นนี้ยังสุดยอดเรื่องเทคโนโลยีที่คอยช่วยเหลือในการขับขี่ เช่นฟังก์ชันรีโมต สตาร์ต สั่งให้เครื่องยนต์ทำงาน และเปิดแอร์ภายในห้องโดยสารได้จากภายนอก (พอเข้ารถมาจะได้เย็นสบาย) และระบบกระจกหน้าต่างคู่หน้าจะเลื่อนลงเล็กน้อย ช่วยให้ปิดประตูง่ายขึ้น (เหมือนระบบกระจกหล่นของรถสปอร์ตไร้กรอบ)

MP33-3293-2 ตลอดจนระบบแจ้งเตือนมุมอับสายตา (Side Blind Zone Alert) ระบบแจ้งเตือนการจราจรขณะถอยหลัง (Rear Cross Traffic Alert) ระบบแจ้งเตือนเมื่อออกจากช่องจราจร (Lane Departure Warning) ระบบเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Alert) ซึ่งจะมีกล้องติดอยู่บริเวณกระจกมองหลัง คอยตรวจจับวัตถุด้านหน้า และมีเซนเซอร์ฝังอยู่ที่กันชนหลัง(ซ้าย-ขวา) ช่วยผสานการทำงานและส่งไปประมวลผล แจ้งเตือนผู้ขับ

นอกจากนี้ยังห้ามล้ออย่างมั่นใจด้วย ดิสก์เบรก 4 ล้อ โดยด้านหน้าเป็นดิสก์เบรกขนาด 300 มม.พร้อมครีบระบายความร้อน หลังขนาด 318 มม.พร้อมครีบระบายความร้อน และขนาดหม้อลมเบรก 10.5 นิ้ว ช่วยประสานให้ระบบเบรกทำงานเต็มประสิทธิภาพ

จากระบบเบรกและระบบความปลอดภัยแบบไฟฟ้าอัจฉริยะ จัดการกับพลังของเครื่องยนต์ดูราแม็กซ์ XLDE25 ได้อยู่หมัด โดยบล็อกดีเซล 4 สูบขนาด 2.5 ลิตร ระบบรางร่วมคอมมอนเรล และเทอร์โบแปรผัน 180 แรงม้า อัตราเร่งยอดเยี่ยม ขณะที่เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด พร้อมเซตอัตราทดเฟืองท้ายไว้ 3.42 ขับทางไกลรอบไม่สูงครับ หรือต้องการพลังในการปีนป่าย แรงบิด 440 นิวตัน-เมตร ก็ตะกุยผ่านทุกอุปสรรคได้สบาย

mp33-3293-a ด้านอัตราบริโภคนํ้ามัน วิ่งกลับจากสามเหลี่ยมทองคำมาสนามบินเชียงราย ระยะทางประมาณ 70 กม.ขับใช้ความเร็ว 100-120 กม./ชม. สลับเคลื่อนตัวได้ช้าและติดไฟแดงบ้าง ถึงที่หมายเห็นตัวเลขหน้าจอแสดงผล 11.7 กม./ลิตร
รวบรัดตัดความ....เป็นเอสยูวี (พีพีวี) อเมริกันพันธุ์แกร่ง ที่สู้ด้วยสมรรถนะ ความคุ้มค่าจากออพชัน และระบบความปลอดภัยที่ใส่ให้เพียบ แถมราคาไม่ได้แพงกว่าใครเมื่อเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกัน น่าจะถูกใจสายร็อก ขาลุยครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2560