รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะเติมเต็มความคุ้มค่าด้านการลงทุน

09 ก.ค. 2560 | 15:33 น.
ภายหลังจากเปิดให้บริการช่วงเตาปูน-บางใหญ่ไปเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าขณะนี้ผู้ใช้บริการจะยังเบาบางอยู่บ้างก็ตามแต่หลายคนยังเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้หากสามารถเปิดให้บริการส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะก็จะสามารถเติมเต็มความคุ้มค่าด้านการลงทุนและจะมีปริมาณผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นกว่าปัจจุบันนี้เนื่องจากผ่านใจกลางเมืองและยังส่งผลให้การเดินทางจากโซนนนทบุรีผ่านย่านถนนสามเสน ราชดำเนิน วังบูรพา วงเวียนใหญ่ และดาวคะนองไปสิ้นสุดที่พระประแดง ราษฎร์บูรณะได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น

รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เป็นส่วนต่อขยายของช่วงบางใหญ่-เตาปูน แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นจากสถานีเตาปูนแล้วลดระดับลงเป็นทางวิ่งใต้ดิน ผ่านเข้าพื้นที่กรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวเข้าถนนทหาร ถนนสามเสน ถนนมหาไชย ลอดใต้แม่นํ้าเจ้าพระยาเข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน เมื่อลอดผ่านสี่แยกมไหสวรรย์แล้วจึงเปลี่ยนเป็นทางวิ่งยกระดับไปตามถนนสุขสวัสดิ์ สิ้นสุดปลายทางที่บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงใกล้กับด่านเก็บค่าผ่านทางถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก รวมระยะทาง 23 กิโลเมตร เป็นทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กิโลเมตร (สถานีใต้ดิน 10 สถานี) และทางวิ่งยกระดับ 11 (สถานียกระดับ 7 สถานี)

[caption id="attachment_185054" align="aligncenter" width="352"] รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะเติมเต็มความคุ้มค่าด้านการลงทุน รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะเติมเต็มความคุ้มค่าด้านการลงทุน[/caption]

โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ใช้เงินลงทุน 1.01 แสนล้านบาท จำแนกเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.5 หมื่นล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 32 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 7 หมื่นล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง 2,865 ล้านบาท ค่างบเผื่อไว้ (Provision Sum) ของงานโยธา ราว 1 หมื่นล้านบาท และค่าสิ่งก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง 1,335 ล้านบาท

โดยตามผลการศึกษายังกำหนดข้อมูลทั้งเส้นทางจะมีผู้โดยสารใช้บริการในปี 2567 สูงถึง 4.7 แสนคน-เที่ยว/วัน มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (คิดเป็นระยะเวลา 30 ปี) 12.95% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 9,246 ล้านบาท มีอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) 1.10 อัตราผลตอบแทนทางการเงินของโครงการ 4.59% มีจุดจอดแล้วจร 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณสถานีบางปะกอก และสถานีราษฎร์บูรณะ

ดังนั้นเมื่อเปิดให้บริการในปี 2567 คงต้องมาลุ้นกันอีกครั้งว่าปริมาณผู้โดยสารจะเป็นไปตามผลการศึกษากำหนดไว้หรือไม่ หลังจากช่วงเตาปูน-บางใหญ่พลาดเป้าไปเยอะ แถมยังต้องใช้งบประมาณบางส่วนเข้าไปชดเชยค่าฟีดเดอร์ในช่วงก่อนจะเปิดให้บริการเชื่อมต่อระหว่างสถานีบางซื่อ-เตาปูน แต่ที่แน่นอนนั้นคงจะได้เห็นความคึกคักของการพัฒนาเมืองตามแนวเส้นทางโดยเฉพาะช่วงเมืองในเขต ชั้นในปรับเปลี่ยนไปมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตเกาะรัตน โกสินทร์เพื่อให้สอดคล้อง กับความเจริญตามแนวเส้นทางดังกล่าว...เพราะรถไฟฟ้ามาหาถึงหน้าบ้านนั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,282 วันที่ 27 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560