รถไฟฟ้ารางเบาเมืองภูเก็ต ลุ้นรฟม.เคาะร่วมทุนพีพีพี

15 ก.ค. 2560 | 10:17 น.
การพัฒนาทางรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยว เส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี-พังงา -ภูเก็ต เพื่อขยายและเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟระหว่างฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยกับพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวระดับโลก รัฐบาลจึงมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเชื่อมโยง 2 ฝั่งทะเลเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับกลุ่มจังหวัดภาคใต้โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย

ล่าสุดโครงการรถไฟฟ้ารางเบา จ.ภูเก็ต เส้นทางท่านุ่น-ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เสนอกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) รับไปดำเนินการศึกษาตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนพ.ศ.2556

[caption id="attachment_178156" align="aligncenter" width="503"] รถไฟฟ้ารางเบาเมืองภูเก็ต ลุ้นรฟม.เคาะร่วมทุนพีพีพี รถไฟฟ้ารางเบาเมืองภูเก็ต ลุ้นรฟม.เคาะร่วมทุนพีพีพี[/caption]

ทั้งนี้ตามผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจ และการเงินพบว่ามีความเหมาะสมในการลงทุนโดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ 23.78% มีมูลค่าการลงทุนรวม 3.9 หมื่นล้านบาท โดยได้เสนอในรูปแบบของการร่วมลงทุนซึ่งภาครัฐเป็นผู้ลงทุนเรื่องของงานระบบสาธารณูปโภค เช่น การสร้างราง การสร้างสถานี ส่วนภาคเอกชนลงทุนในเรื่องของงานระบบต่างๆ

แนวเส้นทางจะเริ่มจากสถานีรถไฟฟ้าท่านุ่น จ.พังงา สู่ท่าฉัตรไชย จ.ภูเก็ต โดยใช้สะพานเทพกระษัตรี มุ่งหน้าไปตามถนนเทพกระษัตรี โดยก่อสร้างไปตามเกาะกลางถนน จนถึงทางแยกทางหลวงชนบท ภก.3033 ซึ่งเป็นเส้นทางไปยังหาดไม้ขาว มุ่งหน้าไปตามถนนเทพกระษัตรี เลี้ยวขวาเข้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต จากนั้นวิ่งไปตามทางหลวงหมายเลข 4031 ขนานไปกับแนวทางวิ่ง (Runway) แล้วออกจากท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ไปตามทางหลวงหมายเลข 4026 ออกไปบรรจบกับถนนเทพกระษัตรี เลี้ยวขวาแล้วตรงไปจนถึงแยกถนนดอนจอมเฒ่า จากนั้นแนวเส้นทางจะไปตามถนนเทพกระษัตรี ไปบรรจบกับสามแยกบางคูแล้วตรงไปทางทิศใต้ตามแนวถนนเทพกระษัตรี เข้าสู่ตัวเมืองเทศบาลนครภูเก็ต จนถึงแยกถนนรัษฎา จากนั้นตรงไปตามถนนภูเก็ตแล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนศักดิเดช ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 4021 (ถนนเจ้าฟ้าตะวันออก) ไปสิ้นสุดที่ห้าแยกฉลอง

โครงการรถไฟฟ้ารางเบา จ.ภูเก็ต ระยะทาง 60 กิโลเมตร จำนวน 20 สถานี ได้แก่ สถานีท่านุ่น สถานีท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต สถานีกลาง สถานีอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร สถานีเกาะแก้ว สถานีขนส่งผู้โดยสารภูเก็ตแห่งที่ 2 สถานีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต สถานีทุ่งคา สถานีเมืองเก่า สถานีวงเวียนหอนาฬิกา สถานีบางเหนียว สถานีห้องสมุดประชาชน จ.ภูเก็ต สถานีสะพานหิน สถานีศักดิเดช สถานีดาวรุ่ง สถานีวิชิต สถานีเจ้าฟ้าตะวันออก สถานีป่าหล่าย สถานีบ้านโคกโตนด และสถานีฉลอง

[caption id="attachment_178157" align="aligncenter" width="503"] รถไฟฟ้ารางเบาเมืองภูเก็ต ลุ้นรฟม.เคาะร่วมทุนพีพีพี รถไฟฟ้ารางเบาเมืองภูเก็ต ลุ้นรฟม.เคาะร่วมทุนพีพีพี[/caption]

โดยเฟสแรกจะก่อสร้างจากสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41 กิโลเมตรคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2564 วงเงินลงทุนเฟสแรก 3.1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้จะเชื่อมโยงโครงข่ายเชื่อมต่อการเดินทาง และเป็นการแก้ปัญหาการจราจรด้วยการสร้างทางเลือกในการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน ช่วยลดต้นทุนการขนส่งให้ถูกลงจากเดิมที่ใช้ทางรถยนต์เป็นหลักนั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,278 วันที่ 13 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2560