พาณิชย์ดันภาคบริการเคลื่อนการค้าประเดิมธุรกิจการศึกษานานาชาติ 2.6 หมื่นล้าน

20 มิ.ย. 2560 | 10:57 น.
พาณิชย์ เปิดแผนดันภาคบริการเคลื่อนการค้า ประเดิมธุรกิจการศึกษานานาชาติในไทย ตั้งเป้าดึงดูดต่างชาติ หนุนภาพรวมตลาดการค้าภาคบริการ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12%  ด้านกูเกิ้ล แนะสถาบันการศึกษาไทยต้องปรับกลยุทธ์ ใช้สื่อออนไลน์พัฒนาควบคู่หลักสูตร

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายในงานสัมมนา การสร้างโอกาสธุรกิจบริการการศึกษานานาชาติของไทยสู่สากลว่า ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ได้ปรับโครงสร้างการค้าสู่ภาคบริการหรือ Trade in Services ให้เป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนการค้า ผ่านการมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบธุรกิจบริการ และส่งเสริมการขยายธุรกิจบริการไทยสู่ตลาดโลก  ซึ่งกรมได้กำหนดเป็นนโยบายตามแผนของกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2559 – 2564 ในการผลักดันธุรกิจบริการการศึกษานานาชาติ เนื่องจากธุรกิจการศึกษาถือเป็นหนึ่งในธุรกิจบริการที่มีมูลค่าตลาดรวมกันกว่า 2.6 หมื่นล้านบาทต่อปี และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยกว่า 12%ต่อปี โดยกลยุทธ์ในการส่งเสริมจะเจาะตลาดต่างชาติเข้ามาศึกษาหลักสูตรนานาชาติ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการศึกษานานาชาติของไทย ทั้งที่เป็นหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรที่สอนวิชาชีพ และหลักสูตรในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา

[caption id="attachment_166176" align="aligncenter" width="335"] นางมาลี โชคล้ำเลิศ นางมาลี โชคล้ำเลิศ[/caption]

 

“ที่ผ่านมาไทยพึ่งพาภาคส่งออกเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และหนึ่งในนั้นมีภาคบริการเป็นส่วนสำคัญด้วย กรมจึงมองโอกาสในการพัฒนาภาคบริการ โดยเฉพาะภาคบริการด้านการศึกษา ที่ไทยมีศักยภาพหลายด้าน และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากนำมาพัฒนาดึงดูดต่างชาติเข้ามาศึกษาก็จะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งเบื้องต้นสถาบันการศึกษา อาจจะเลือกพัฒนาเป็นหลักสูตรระยะสั้น เช่น หลักสูตรมวยไทย หลักสูตรทำอาหาร เป็นต้น”

ด้านนางสาวอรผกา วุฒิโฆษิต  Analytical Lead Google (Thailand) Co., Ltd. กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าปัจจุบันผู้บริโภคเลือกรับสื่อได้หลากหลายช่องทางผ่านเทคโนโลยี ทำให้การศึกษาสามารถเริ่มต้นเองได้ ดังนั้นสิ่งที่สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป คือการมองโอกาสพัฒนาหลักสูตรที่ต้องมีวิชาการแก้ปัญหา วิชาการเป็นผู้นำและวิชาการสื่อสาร ด้วยภาษาที่หลากหลาย นอกเหนือจากการเข้าห้องสมุด เพิ่มองค์ความรู้ให้ปรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงได้

นอกจากนี้ แนวทางทำการตลาด สถาบันการศึกษาควรให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดีย และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อใช้เป็นตัวกลางสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย เพราะกระแสของผู้บริโภครุ่นใหม่ในปัจจุบันมีพฤติกรรมปรับเปลี่ยนไว ดังนั้นสถาบันอาจจะต้องมีหลายโปรดักซ์ ใช้แอพพลิเคชั่น ใช้สื่อตัวกลางเหล่านี้ใช้ตอบโต้ด้วยเทคโนโลยี ส่วนการโปรโมทหลักสูตร และผลิตภัณฑ์ในตลาดต่างประเทศ อาจปรับจากวิธีการโรดโชว์แบบเดิม เป็นการมองช่องทางโฆษณาออนไลน์ ที่สามารถกระจายการสื่อสารได้ทั่วโลก อีกทั้งยังเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างตรงจุด