‘ECL’ผนึกทุนญี่ปุ่น ยกระดับขึ้นอินเตอร์เปิดโมเดลธุรกิจใหม่ปั้นตลาดรถมือ2

12 มิ.ย. 2560 | 08:00 น.
ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่งควงพันธมิตรญี่ปุ่นยกระดับธุรกิจ เพิ่มโอกาสทำกำไร เตรียมเปิดศูนย์ตรวจสภาพรถมือ 2 รับซ่อมเปลี่ยนอะไหล่ 1 ปี พื้นฐานแกร่งเข้าตาแบงก์ ปลุกราคาหุ้นวิ่งฉิว

นายดนุชา วีระพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน)หรือ ECL ผู้นำธุรกิจสินเชื่อรถยนต์มือสองมานาน 40 ปี เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น มีนักลงทุนสถาบัน ชื่อ Premium Financial Services Co.,Ltd.ที่มีแม่เป็นธนาคารในญี่ปุ่น เข้ามาถือหุ้นจำนวน 25.5% ในปี 2559 จนถึงปัจจุบันยกระดับขึ้นเป็นบริษัทอินเตอร์ สร้างความแตกต่างจากธุรกิจลิสซิ่งทั่วไป หลังเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานและโมเดลธุรกิจชัดเจน

“หลายคนยังไม่รู้ว่าเรามีบริษัทลิสซิ่งรถยนต์มือสองใหญ่เป็นอันดับ 2 ในญี่ปุ่น และเป็นอันดับ1ในการให้บริการหลังการขายเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์เราเปลี่ยนบุคคลิกเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจ ซึ่งใครๆก็ขยายสินเชื่อลิสซิ่งได้ แต่เราไม่เร่งปล่อยสินเชื่อ พร้อมสร้างธุรกิจใหม่ “นายดนุชากล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า บริษัทใช้โนฮาวจากพันธมิตรญี่ปุ่น ในเร็วๆนี้จะเปิดตัวธุรกิจใหม่ภายใต้แบรนด์ FIXMAN ตะวันออกพาณิชย์ลิสซิ่งจะเป็นเจ้าแรกในประเทศไทยที่เปิดศูนย์ให้บริการตรวจสภาพรถยนต์มือสองก่อนซื้อ และรับประกันดูแลซ่อมเปลี่ยนอะหลั่ยภายใน 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับสภาพรถโดยคิดค่าธรรมเนียมครั้งแรกซึ่งธุรกิจใหม่จะช่วยสร้างตลาดรถยนต์มือสองให้เติบโตขึ้นมาก สามารถขายรถได้ราคาดีขึ้น สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อรถจากเต้นท์ธุรกิจอู่ซ่อมรถมีมาร์จิ้นสูง แต่จะต้องเปิดสาขาให้มากเพียงพอรองรับการให้บริการ ในอนาคตต้องการมีรายได้จากการให้บริการสัดส่วน 20-30% ของรายได้ทั้งหมด

นายดนุชากล่าวว่า บริษัทมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีขึ้นมาก สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ก็เห็นการเปลี่ยนแปลง ทำให้ต้นทุนทางการเงินถูกลง แต่บริษัทไม่เร่งขยายสินเชื่อมาก เพราะบริษัทมีขนาดเล็กกว่าคู่แข่งจึงต้องพิจารณาฐานของทุน และคุณภาพของสินเชื่อ ปัจจุบันเอ็นพีแอลยังคงอยู่ในระดับ 4% เศษ ฐานลูกค้าเป็นระดับกลาง มีการใช้สินเชื่อเฉลี่ย 3 แสนบาทต่อราย ส่วนแผนงาน 4ปี คาดว่าในปี 2562พอร์ตสินเชื่อจะโตถึง 1 หมื่นล้านบาท ส่วนในปีนี้คาดว่าจะมีลูกค้าใหม่ 2,400 ล้านบาท พอร์ตสินเชื่อ 4,500 ล้านบาท โดยยังคงมีสาขา4 แห่งในภาคตะวันออกและสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพ ไม่มีการเร่งขยายสาขา เพราะกรุงเทพเป็นตลาดที่มีรถยนต์และลูกค้ามากที่สุด ลูกค้าใช้ออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก

นอกจากนั้น บริษัทฯยังเป็นเจ้าแรกๆในการปล่อยสินเชื่อซื้อบิ๊กไบค์มือสอง ปัจจุบันปล่อยจำนวน 4,638 คัน มีสัดส่วนสูงถึง 46% ของจำนวนรถที่ให้สินเชื่อ แต่บิ๊กไบค์ซื้อขายกันเอง ไม่ผ่านเต้นท์รถ

“ บริษัทไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ จึงคิดอัตราดอกเบี้ยสูง ปล่อยสินเชื่อประมาณ 11% จากต้นทุนประมาณ 4% ต่อปี แต่ส่วนต่างของดอกเบี้ย สร้างกำไรได้ประมาณ 50% เท่านั้น เราต้องหากำไรเพิ่มจากเบี้ยปรับจากการจ่ายเงินช้า และค่าธรรมเนียม ในการทวงถาม ในอนาคตจะสร้างกำไรจากการให้บริการ “นายดนุชากล่าว

MP17-3269-A ด้านเงินทุน บริษัทใช้สินเชื่อจากธนาคาร 6 แห่ง แต่ในปีนี้จะเริ่มออกหุ้นกู้เป็นครั้งแรก ช่วยลดต้นทุนทางการเงินและเพิ่มอำนาจต่อรองในการขอสินเชื่อจากธนาคารด้วย และปลายปีนี้จะมีใบสำคัญแสดงสิทธิ(วอร์แรนต์)ครบอายุแปลงเป็นหุ้น ทำให้มีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1 พันล้านบาท

ส่วนราคาหุ้น ECL นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ให้ผลตอบแทนสูงสุดติดอันดับ 5 ราคาหุ้นปรับขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ และตามปัจจัยพื้นฐาน มูลค่าการซื้อขายประมาณวันละ 40-50 ล้านบาท บางช่วงสูงสุดถึง 100 ล้านบาทแต่ไม่ใช่เป็นการเก็งเหมือนในอดีต นอกจากนั้นยังมีนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ชื่อดัง และผู้จัดการกองทุนมาพบมาหาข้อมูลทุกวัน
“ เรามีสถาบันญี่ปุ่นเข้ามาถือหุ้นกว่า25% และนักลงทุนเข้ามาทยอยเก็บเพื่อถือลงทุนระยะยาว เพราะธุรกิจลิสซิ่ง ไม่มีวันตาย แต่ต้องมีระบบที่ดี รถยนต์มีมากขึ้น ประเทศไทยไม่มีกฎหมายให้ทำลาย เหมือนในต่างประเทศ แต่การทำธุรกิจสินเชื่อรถยนต์มือสองเป็นตลาดใครตลาดมัน และนันแบงก์มีอิสระในการทำธุรกิจมากกว่าธนาคาร”นายอนุชากล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,269 วันที่ 11 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560