กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.5%

24 พ.ค. 2560 | 09:01 น.
แบงก์ชาติ มั่นใจฟองสบู่อสังหาฯยังไม่แตก เชื่อมือภาคธุรกิจคุมเกม พร้อมมติเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% เชื่ออัตราดังกล่าวหนุนเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่2

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ครั้งที่ 3/2560 ว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณฟองสบู่ในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยเกิดขึ้นเนื่องจากเมื่อนักพัฒนาสังหาริมทรัพย์เริ่มพบสัญญาณการผิดปกติของลูกค้าก็จะมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องเช่นหากมีการชำระผิดนัดหรือธนาคารมีการจำกัดวงเงินสินเชื่อทางผู้ประกอบการก็จะลดปริมาณหรือ จำนวนยูนิตการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ให้ลดลงซึ่งจะทำให้โอกาสการเกิดฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นต่ำแต่ต้องยอมรับว่าในเขตหรือที่มีอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นในแถบรถไฟฟ้ามีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดได้เป็นบาง. ซึ่งตรงนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยเชื่อมั่นว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงตรงนี้ได้

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี ซึ่งคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนขึ้นและเป็นไปตามตลาดของคาดการณ์

ทั้งนี้ในการตัดสิน  ทางคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนขึ้น แม้ว่าต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะจากด้านต่างประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงและอาจต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในบางช่วงจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก แต่มีทิศทางปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ในไตรมาสที่2

นอกจากนี้คณะกรรมการฯ เห็นว่า ระบบการเงินโดยรวมของไทยยังคงมีเสถียรภาพ สามารถรับมือความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดอน่างใกล้ชิด อาทิ ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SME ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขันตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำมาเป็นเวลานาน เหล่านี้อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงของตลาดที่ต่ำกว่าที่ควร ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้จับตาอย่างใกล้ชิด

ขณะที่มองไปในอนาคต ภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น แม้ว่ายังต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยด้านต่างประเทศ ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำดังนั้นคณะกรรมการฯ จึงเห็นว่า นโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศต่อไป