ปิดแล้ว 6 พันเว็บไซต์ไม่เหมาะสม

04 พ.ค. 2560 | 08:01 น.
ปิด 6,300 เว็บไซต์ เนื้อหาไม่เหมาะสม "เว้นเฟซบุ๊ก รอเจรจา"

-4 พ.ค. 60 - นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. และ นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนางมรกต กุลธรรมโยธิน นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประเทศไทย ร่วมกันแถลงความคืบหน้าการปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมและผิดกฎหมาย หลังจากที่ได้มีการประกาศไปก่อนหน้านี้ให้ดำเนินการภายใน 7 วัน โดยในวันนี้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ISP และ IIG ได้ดำเนินการตามคำสั่งของ กสทช.แล้ว โดยทุกรายได้ปิดเว็บไซต์และถอดเนื้อหา(Content) ที่ไม่เหมาะสม ผิดกฎหมาย ตามคำสั่งศาลไปแล้ว กว่า 6,300 ยูอาร์แอล (URL) ยังคงเหลืออีก 600 ยูอาร์แอลที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของไทยไม่สามารถถอดออกเองได้ เพราะเป็นเนื้อหาที่ถูกเข้ารหัส และมี Server อยู่ในต่างประเทศ

ซึ่งทางผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายได้ทำหนังสือ ไปยังเจ้าของ Server ในต่างประเทศแล้วพร้อมชี้แจงให้เข้าใจว่า เนื้อหาที่ปรากฎอยู่นั้นมีผลกระทบต่อคนไทย และผิดกฎหมายในประเทศไทยอย่างไร โดยเจ้าของ Server เกือบทุกราย ยินดีจะให้ความร่วมมือ และอยู่ในขั้นตอนหาวิธีการร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหานี้ แต่ยังคงมีผู้ให้บริการ 1 ราย ที่ยังไม่ได้รับการตอบรับ คือ Facebook ซึ่งทางผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ยังคงรอผลตอบรับจากทางผู้บริหาร Facebook เพื่อขอความชัดเจนในความร่วมมือดังกล่าว

นายฐากร กล่าวว่า การดำเนินการถอดเว็บไซต์และปิดเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมนั้นกว่า 6300 URL นั้น พบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมและผิดกฎหมายมากที่สุด อันดับที่ 1 คือ มีเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ อันดับที่ 2 เป็นเว็บไซต์การพนัน และอันดับ 3 เป็นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาลามกอนาจาร เว็บไซต์โป๊ นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์หรือเนื้อหาที่เกี่ยวกับธุรกิจที่มีการหลอกลวงฉ้อโกงประชาชนด้วย

นางมรกต กล่าวว่า สมาชิกสมาคมไอเอสพีได้นำเว็บไซต์ไม่เหมาะสมลงจากอินเทอร์เน็ตแล้ว 6,300 เว็บไซต์ หลังมีคำสั่งศาล คงเหลืออีก 600 เว็บไซต์ที่เข้ารหัสไว้ สมาคมฯจึงทำหนังสือไปยังผู้ให้บริการเว็บไซต์เหล่านั้นเพื่อให้ปิดกั้นเว็บไซต์ จากนั้นผู้ให้บริการจึงทำหนังสือชี้แจงการดำเนินงานมายื่นต่อกสทช.เพื่อให้ทราบว่าดำเนินการอะไรไปบ้างตามปกติสมาคมไม่มีอำนาจในการกลั่นกรองเนื้อหา ต้องทำตามคำสั่งศาล ส่วนเว็บที่ปิดรองลงมาคือเว็บฟิชชิ่ง ยืนยันไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ประชาชนในเฟซบุ๊ก ยูทูป สำนักงาน กสทช. ดำเนินการในภาพใหญ่ทั้งหมดเพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์คได้ถูกต้อง ไม่ได้เจาะจงเฉพาะเฟซบุ๊ก การมอนิเตอร์เนื้อหาจะมีจากทั้ง 2 ส่วนคือจากสำนักงาน กสทช. เองและผู้ประกอบการ ISP

ด้านตัวแทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บอกว่า จะเปิดรับฟังความคิดเห็นกฎหมายลูกของ พรบ.คอม ภายในเดือนนี้ และคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถปิดกั้นเว็บไซต์ที่ผิดกฏหมายได้ทั้งหมด หลังจากนี้ กสทช.และฝ่ายความมั่นคงจะติดตามสถานการณ์ต่อไป โดยจะมีมาตรการกับเว็บไซต์ที่ผิดกฏหมาย ขอให้ประชาชนสบายใจได้ รัฐบาลไม่มีแนวคิดทปิดกั้นสื่อสังคมออนไลน์ใดๆทั้งสิ้น ขออย่าวิตกกังวลจากนี้สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะเร่งทำหนังสือถึงต่างประเทศขอความร่วมมือนำเว็บที่เข้ารหัสอีก 600 เว็บไซต์ คาดสัปดาห์หน้าจะปิดได้ทั้งหมด"
ทั้งนี้การดำเนินการปิดกั้นเนื้อหาไม่เหมาะสมและผิดกฎหมายในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการปิดกั้นให้ประชาชนชาวไทยในการท่องโลกโซเชียล หรือบล็อก Youtube Facebook Twitter ตามที่หลายคนเข้าใจ เว็บไซต์ดังกล่าว ประชาชนยังสามารถใช้ได้ตามปกติ เพียงแต่การดำเนินการปิดกั้นเฉพาะเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมและผิดกฎหมายเท่านั้น ส่วนกรณีที่ยังไม่สามารถปิดกั้นได้ ให้เวลาผู้ให้บริการที่มี Server ในต่างประเทศได้พิจารณาและตอบมารับก่อน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่ทางกสทช. กระทรวงดีอี และหน่วยงานความมั่นคง จะยังคงมอร์นิเตอร์ติดตามเว็บไซต์ที่ยังมีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายอยู่ตลอด และจะหามาตรการดำเนินการต่อไปสำหรับเว็บไซต์หรือServer ต่างประเทศที่ยังคงไม่ถอดเนื้อหาที่ผิดกฎหมายของประเทศไทยออก