รฟม.แจงปมเอื้อบีอีเอ็ม ‘วิลาศ’ท้าดีเบตออกทีวี

28 เม.ย. 2560 | 05:00 น.
รฟม.แจงข้อเท็จจริงปมเอื้อสัมปทานเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน อ้างลดความเสี่ยงภาครัฐและได้รับไฟเขียวจากคณะกรรมการพีพีพีพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งม.44 ด้าน “วิลาศ”แฉต่อเนื่อง 30 เม.ย.นี้มีหมัดเด็ดท้าบิ๊ก รฟม.-“เอกนิติ”ดีเบตผ่านทีวี

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้กล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแคที่อาจมีการทุจริตในตัวโครงการและส่อแววเอื้อผลประโยชน์ให้กับเอกชนนั้น รฟม.ขอชี้แจงว่าการคัดเลือกบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (บีอีเอ็ม) เป็นผู้เดินรถนั้น ได้ยึดผลการศึกษาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งเห็นสมควรให้ผู้เดินรถรายเดิมเป็นผู้ดำเนินการเพราะจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน เพราะไม่ต้องมีระบบการเดินรถหลายแบบ ซึ่งต้องมีการลงทุนที่เพิ่มขึ้น

พร้อมยังมีการปรับรูปแบบการลงทุนจาก Gross Cost คือ รัฐลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และจัดเก็บค่าโดยสาร มาเป็นให้เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้าทำหน้าที่เดินรถแล้วจ่ายเป็นเงินค่าจ้างแบบกำหนดราคาคงที่เป็นรูปแบบ Net Cost คือ ผู้รับสัมปทานเป็นผู้จัดเก็บรายได้ โดยผู้รับสัมปทานอาจเสนอส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ภาครัฐตามที่ได้ตกลงกัน

“กรณีดังกล่าวนี้เพื่อลดความเสี่ยงของภาครัฐ อีกทั้งยังได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(คณะกรรมการพีพีพี) และปฏิบัติตามคำสั่งตามมาตรา 44 ของคสช.ในการให้เจรจากับผู้เดินรถรายเดิม ประการสำคัญยังทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการติดตั้งระบบเดินรถ ซ่อมบำรุงใหญ่คิดเป็นเงินกว่า 9,800 ล้านบาท อีกทั้งการปรับสัญญาสัมปทานตลอดทั้งเส้นทางรถไฟฟ้าให้ไปจบที่ปี 2592 ช่วยให้อัตราค่าโดยสารอยู่ที่ระดับ 16 - 42 บาทในการนั่งรถไฟฟ้าตลอด 38 สถานี”

ส่วนการให้แบ่งผลประโยชน์แบบ IRR อยู่ที่ 9.75% ยืนยันว่าอยู่ในอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับการประกอบการชนิดอื่นเช่นการลงทุนของกลุ่มไฟฟ้าที่มีผล IRR อยู่ที่ประมาณ 13-15% ส่วนการให้สิทธิประโยชน์ทางการลงทุนในเรื่องการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีและการยกเว้นภาษีนำเข้าวัสดุก่อสร้างก็เพื่อทำให้ IRR อยู่ที่ระดับ 9.75 และคาดว่าจะเข้าสู่ช่วงคุ้มทุนของเอกชนในช่วง 2-3 ปีท้ายของสัญญา ในขณะที่การให้พื้นที่ภายในศูนย์บำรุงห้วยขวางเพิ่มอีก 20 ไร่ ก็เพื่อเป็นการรองรับขบวนรถที่จะต้องมาให้บริการเพิ่มอีก 18 สถานีในส่วนต่อขยายดังกล่าว

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) กล่าวว่า การพิจารณาว่าจ้างบีอีเอ็มเดินรถต่อเนื่องผู้ใช้บริการได้ประโยชน์สูงสุด ส่วนการแบ่งผลประโยชน์ถือว่าอย่างเป็นธรรมระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยโครงการนี้มีคณะกรรมการข้อตกลงคุณธรรมเข้ามาดูแล ขณะที่การคำนวณอัตราผลตอบแทนมีผู้ประเมินอิสระมาร่วมพิจารณาความเหมาะสมด้วย ทั้งนี้ยังยืนยันว่า การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐทุกโครงการไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน

นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า อยากท้าให้นายธีรพันธ์และนายเอกนิติออกสื่อทีวีในการชี้แจงข้อเท็จจริงกับประชาชนให้เห็นภาพชัดเจนกันในวันที่ 30เมษายนนี้ตนมีหมัดเด็ดในการตอบโต้ครั้งนี้ต่อไปด้วย

“กรณีการร่วมลงทุนแบบGross Cost นั้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 ยังเป็นเหมือนเดิม เพิ่งจะมาเปลี่ยนเป็นการร่วมลงทุนแบบ Net Cost เมื่อธันวาคม 2558 แนวทางที่ถูกต้องรฟม.ควรแยกสัญญาออกมาให้ชัดเจน ไม่ควรรวมสัญญาเอื้อเอกชนแบบที่ดำเนินการไป แทนที่จะรับรายได้หลัก 1 ล้านล้านบาทกลับสูญรายได้เหล่านั้นไปอย่างน่าเสียดายทำไมไม่เอาเฉพาะส่วนต่อขยายไปประมูลเนื่องจากสายรัชมงคลกำลังจะตกเป็นของรัฐ 100% ในอีกไม่กี่ปีเท่านั้น สามารถให้เอกชนมาเช่าโดยไม่ต้องประเคนให้เอกชนใช้บริการฟรีอีก 20 ไร่”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,256 วันที่ 27 - 29 เมษายน พ.ศ. 2560