กรมชลฯชี้แจงกรณีชาวนาอยุธยา-สระบุรี จี้ปล่อยน้ำ

02 ก.พ. 2560 | 07:58 น.
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีกรณีการนำเสนอข่าวว่า ตัวแทนชาวนากว่า 500 คน จากจ.พระนครศรีอยุธยาและสระบุรี รวมตัวกันรับฟังการชี้แจงเรื่องปัญหาขาดแคลนน้ำทำนาปรัง หลังกรมชลประทานออกประกาศว่ากลางกุมภาพันธ์ถึงสิ้นพฤษภาคม อาจไม่มีน้ำส่งให้ทำการเกษตรได้อย่างเพียงพอนั้นว่า  การสนับสนุนการใช้น้ำสำหรับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะข้าวนาปรัง คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทางการวางแผนการผลิตข้าวครบวงจร จะเป็นผู้พิจารณากำหนดพื้นที่เป้าหมายและนำเสนอรัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบ และลงนามในประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการกำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวปี 2559/60 รอบที่ 2 ซึ่งจะสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในปีนี้ สำหรับพื้นที่      จ.อยุธยาและสระบุรี ตามที่ปรากฏในข่าวนั้น เป็นการจัดประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องปริมาณน้ำต้นทุนที่จะใช้ในการสนับสนุนภาคการเกษตรในพื้นที่ดังกล่าว ให้กับเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ได้ทราบถึงสถานการณ์น้ำและแนวทางในการจัดสรรน้ำของกรมชลประทาน ไม่ใช่การก่อม็อบเรียกร้องเรื่องน้ำแต่อย่างใด

สำหรับพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ(S.C.) ได้กำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชช่วงฤดูแล้งปี 2559/60 ไว้ทั้งสิ้น 31,522 แยกเป็นพื้นที่ในเขตจ.สระบุรี 2,612 ไร่ และจ.พระนครศรีอยุธยา 28,920 ไร่ แต่พบว่าเกษตรกรมีการทำนาปรังไปแล้วกว่า 100,600 ไร่ เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งที่ได้มีการจัดประชุมชี้แจงรวมทั้งรณรงค์ขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ลดการทำนาปรัง โดยให้หันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำภาคการเกษตร ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนเมษายน 2560 กรมชลประทาน จึงได้วางมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำการปลูกข้าวรอบที่ 2 ไปแล้วไม่ให้ได้รับความเสียหาย โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานเข้าไปควบคุมการส่งน้ำเป็นรอบเวรอย่างใกล้ชิด และในเบื้องต้นจะขอรับการจัดสรรน้ำเพิ่มเข้ามาในคลองระพีพัฒน์จากปกติ 50 – 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 70 – 80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นช่วงๆ ช่วงละประมาณ 2 – 3 วัน ในช่วงที่พื้นที่เพาะปลูกเริ่มขาดน้ำ รวมทั้งประสาน S.C. เพื่อขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือไม่ให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ 8 เครื่อง สำรองไว้บริเวณปากคลองส่งน้ำสายซอย สำหรับให้การช่วยเหลือเกษตรกรหากเกิดการขาดแคลนน้ำหรือข้าวเริ่มได้รับความเสียหาย