มติ ครม.ด้านคมนาคม

04 ต.ค. 2559 | 11:56 น.
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายดรุณ แสงฉาย รองปลัดกระทรวงคมนาคมและโฆษกกระทรวงคมนาคม แถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ณ ห้องราชดำเนิน กระทรวงคมนาคม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประชุมวันที่ 4 ตุลาคม 2559 โดยมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงฯ ดังนี้

1.รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย – ลาว

ครม. ให้ความเห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างไทย - ลาว ดังนี้ 1)สิทธิความจุสำหรับการทำการบินเที่ยวบินรับขนผู้โดยสาร เส้นทางกรุงเทพฯ - เวียงจันทน์ และเวียงจันทน์ - กรุงเทพฯ สามารถทำการบินได้ 14,500 ที่นั่ง/สัปดาห์ ด้วยอากาศยานแบบใด ๆ โดยเพิ่มขึ้นจาก 2,100 ที่นั่ง/สัปดาห์ เส้นทางกรุงเทพฯ - หลวงพระบาง และหลวงพระบาง - กรุงเทพฯ สามารถทำการบินได้ 10,000 ที่นั่ง/สัปดาห์ ด้วยอากาศยานแบบใด ๆ โดยเพิ่มขึ้นจาก 1,000 ที่นั่ง/สัปดาห์ และเส้นทางสนามบินศุลกากรในไทย - สนามบินศุลกากรใน สปป.ลาว สามารถทำการบินได้ 2,100 ที่นั่ง/สัปดาห์ ด้วยอากาศยานแบบใด ๆ โดยเพิ่มขึ้นจาก 450 ที่นั่ง/สัปดาห์

2)สิทธิความจุสำหรับการทำการบินเที่ยวบินรับขนเฉพาะสินค้า สายการบินที่กำหนดของทั้งสองฝ่าย สามารถใช้สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 3, 4 และ 5 อย่างเต็มที่ด้วยอากาศยานแบบใด ๆ ตามเส้นทางที่ระบุ 3)สายการบินที่กำหนด คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายยืนยันสายการบินที่ทำการบินระหว่างไทย - ลาว ดังนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ลาวแอร์ไลนส์ และลาวเซ็นทรัล แอร์ไลนส์

2.การขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำขั้นที่ 1 เอ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2546 และขอผ่อนผันยกเว้นมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2550 เพื่อก่อสร้างถนนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ สำหรับโครงการเร่งรัดขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ตอนทางหลวงหมายเลข 105 หรือทางหลวงหมายเลข 12 (ปรับใหม่) ตอนตาก - อ.แม่สอด

ครม. เห็นชอบการผ่อนผันการใช้พื้นที่ฯ ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้พิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กรมทางหลวงเสนอ เพื่อดำเนินโครงการฯ ให้แล้วเสร็จ โดยกำชับให้กรมทางหลวงดำเนินการตามที่คณะกรรมการฯ มีความเห็นเพิ่มเติม ดังนี้ 1)จัดตั้งงบประมาณและดำเนินการปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ จำนวน 3 เท่า ของพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกใช้ประโยชน์ (ประมาณ 1,200 ไร่) 2)พิจารณาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างถนนที่ตัดผ่านพื้นที่ป่าไม้ในระยะต่อไป ในรูปแบบของอุโมงค์ทางลอด หรือถนนเส้นทางธรรมชาติ รวมทั้งให้พิจารณาทางเลือกอื่นที่สามารถทำได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดต้นไม้ โดยอาจย้ายหรือการขุดล้อมต้นไม้

3)นำข้อมูลรายละเอียดรูปแบบรถยนต์ และความแตกต่างของตำแหน่งพวงมาลัยของรถประเทศเพื่อนบ้านมาใช้ประกอบการพิจารณาออกแบบทางหลวงให้เกิดความเหมาะสม หรือการปรับโค้งให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย เช่น ความชันของถนน และทัศนวิสัยในการขับขี่ เพื่อลดอุบัติเหตุและรองรับการสัญจรระหว่างประเทศ รวมทั้งความเป็นไปได้ในการเก็บค่าผ่านทางของผู้สัญจรจากประเทศเพื่อนบ้าน 4)พิจารณาหาแนวทางและมาตรการระบายน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อการกีดขวางทางน้ำที่อาจเกิดขึ้นจากการก่อสร้างโครงการฯ ให้มากที่สุด

ทั้งนี้ กรมทางหลวงอยู่ระหว่างดำเนินโครงการเร่งรัดขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ทางหลวงหมายเลข 105 หรือทางหลวงหมายเลข 12 (ปรับใหม่) ตอนตาก - อ.แม่สอด มีจุดเริ่มต้นบริเวณสามแยกแม่สอด - แยกอุ้มผาง รวมระยะทาง 76.107 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ตอน และได้ดำเนินการตอน 1 และ 2 ซึ่งไม่กระทบกับพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างตอน 3 และ 4

3.ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านคมนาคม ระหว่างไทย – ญี่ปุ่น

ครม. รับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านคมนาคม ระหว่างไทย - ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1)ความร่วมมือด้านระบบราง ฝ่ายญี่ปุ่นยินดีให้ความช่วยเหลือฝ่ายไทยจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ การพัฒนาเส้นทางรถไฟตามแนวเศรษฐกิจด้านใต้ และการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ 2)ความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากร ฝ่ายไทยได้ขอให้ฝ่ายญี่ปุ่นพิจารณาจัดโครงการฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่โรงงานมักกะสันของการรถไฟแห่งประเทศไทย

3)ความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนน ฝ่ายไทยได้ขอให้ฝ่ายญี่ปุ่นพิจารณาให้ความช่วยเหลือส่งผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติก่อนช่วงเทศกาลปีใหม่ 4)ความร่วมมือด้านการบิน ฝ่ายไทยขอบคุณสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศญี่ปุ่นที่ส่งผู้เชี่ยวชาญมาประจำที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย 5)ความร่วมมือระหว่างกระทรวงฯ และบริษัทญี่ปุ่นในด้านอื่น ๆ เช่น บริษัท โตโยต้า มีความร่วมมือกับกระทรวงฯ และหน่วยงานภาครัฐของไทยในโครงการ “สาทร โมเดล” เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืนบน ถ.สาทร 6)การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายญี่ปุ่นพิจารณาสนับสนุนเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน สำหรับโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างชายแดนไทยกับทวาย และขอให้ฝ่ายญี่ปุ่นเร่งรัดสัญญาร่วมทุนนิติบุคคลเฉพาะกิจ โดยฝ่ายไทยจะเร่งรัดให้มีการหารือ 3 ฝ่ายโดยเร็ว

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ กล่าวว่า ครม. ได้รับทราบแนวทางการลดอุบัติเหตุทางถนนด้วยใบอนุญาตขับรถแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้จัดทำโครงการเพื่อดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ดังนี้ 1.โครงการ “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS” ออกประกาศให้รถโดยสารสาธารณะและรถลากจูงที่จดทะเบียนก่อนเดือนมกราคม 2559 จะต้องติดตั้ง GPS ให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 ส่วนรถโดยสารสาธารณะ รถลากจูง และรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ต้องติดตั้ง GPS ทันที รวมทั้งรถบรรทุกขนาดใหญ่ตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไปทุกคัน จะต้องติดตั้ง GPS ให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 ซึ่งกรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างเร่งจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 2.โครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ในการออกใบอนุญาตขับรถแบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน ดำเนินการออกใบอนุญาตขับรถรูปแบบใหม่ให้เป็นบัตรแบบพลาสติกที่มีแถบแม่เหล็ก เพื่อนำมาใช้ร่วมกับเครื่อง GPS ควบคุมผู้ขับรถให้เกิดความปลอดภัย คาดว่าจะสามารถเริ่มออกใบอนุญาตฯ ได้ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2560

นอกจากนี้ ครม.ได้เห็นชอบแต่งตั้ง น.อ.ปิยะ อาจมุงคุณ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) แทน น.อ.อ.จิรพล เกื้อด้วง อดีตผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือนที่ครบวาระ