ขังเดี่ยวผู้ถือหุ้นกู้ ITD โดยธนาคารกรุงศรี (ภาคต่อ)

12 ม.ค. 2567 | 03:42 น.

ขังเดี่ยวผู้ถือหุ้นกู้ ITD โดยธนาคารกรุงศรี (ภาคต่อ) : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ By...เจ๊เมาธ์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,957

มีแนวโน้มว่า การที่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ส่งจดหมายเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ในวันพุธที่ 17 มกราคม 2567 เพื่ออนุญาตผู้ถือหุ้นกู้เลื่อนกำหนดเวลาจ่ายเงินต้นออกไปอีก 2 ปี โดยมีทางธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY เป็นผู้ถูกเชิญเข้าร่วมประชุมในฐานะ “ผู้แทนหุ้นกู้ของ ITD” น่าจะประสบความสำเร็จได้แบบที่ไม่มีปัญหา 

ขณะเดียวกันสิ่งที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในฐานะของ “ผู้แทนหุ้นกู้” ก็ดูคล้ายกับว่า กำลังพยายามลอยตัวจากปัญหาหุ้นกู้นี้ ไม่ต่างไปจากการมัด “มือชก” หรือจับเจ้าหนี้ “ขังเดี่ยว” ใช้เป็นตัวประกัน เพราะหากเจ้าหนี้ไม่ยอมยืดเวลา ก็คงจะไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย

แน่นอน...เจ๊เมาธ์เชื่อว่า การเลื่อนจ่ายต้นออกไป ไม่ว่าจะในกรณีใดล้วนไม่เป็นผลดีกับผู้ถือหุ้นกู้ตัวจริง 

อย่าลืมว่า “หน้าที่ของผู้แทนหุ้นกู้” คือ “ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ออกตราสารหนี้ เพื่อให้ทำหน้าที่ดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้ โดยมีหลักการดำเนินงานภายใต้หลักเกณฑ์ความระมัดระวัง และดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้” 

ขณะที่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ดูเหมือนจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของ ITD มากกว่าที่จะปกป้องผลประโยชน์ของถือหุ้นกู้ ขณะที่ตัวของเจ้าหนี้หุ้นกู้เอง ก็มีภาระที่จะต้องบริหารจัดการสภาพคล่องของตนเองเช่นกัน 

ดังนั้น หากมีการอนุมัติให้เลื่อนชำระเงินต้นหุ้นกู้ออกไปง่ายๆ ก็จะทำให้เมื่อมีการเลื่อนชำระเงินต้นหุ้นกู้ชุดแรกออกไป ก็จะทำให้หุ้นกู้ชุดอื่นๆ จะต้องถูกเลื่อนตามออกไปไม่จบไม่สิ้น และนั่นก็จะทำให้

ผู้ถือหุ้นกู้ในฐานะเจ้าหนี้ จะต้องเจอกับปัญหาที่ตนเองไม่ได้ก่อ ไม่ต่างไปจากเจ้าหนี้เงินกู้ที่ถูก “ชักดาบ” โดยที่ลูกหนี้แค่เพียงพูดลอยๆ ว่า “ยังจะจ่ายดอกเบี้ยชดเชยให้” นั่นเอง

ที่เจ๊เมาธ์ว่ามาทั้งหมดนี้ ยังไม่รวมไปถึงข้ออ้างข้างๆ คูๆ ที่ทาง ITD อุตส่าห์ไปขุดขึ้นมา ชนิดที่ใครได้ยินต่างก็ต้องมึนตึ้บว่า คิดได้อย่างไร...ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ในปี 2566 ที่ปัจจัยภายนอกได้กระทบกับการประกอบธุรกิจของบริษัท 

เช่น สถานการณ์สงครามในต่างประเทศ ราคาวัสดุ และน้ำมันที่สูงขึ้น การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงทำให้ต้นทุนการทำงานของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น

รวมทั้งการเมืองในประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลล่าช้า ได้ส่งผลกระทบต่อโครงการภาครัฐต่างๆ ที่ชะลอตัวลงจากแผนงานเดิม ทำให้บริษัทซึ่งมีงานของภาครัฐเป็นจำนวนมากประสบปัญหาปริมาณงานลดลง ไม่เป็นไปตามประมาณการ 

ในทางกลับกัน...พบว่า ITD ไม่ยอมพูดไปถึงในช่วงปลายปี 2564-2566 ซึ่งผู้บริหารสูงสุดของบริษัทอย่าง “เปรมชัย กรรณสูต” มีอันที่จะต้องติดคุก จนเป็นเหตุให้ ITD มีงานใหม่เข้ามาในบริษัทแค่เพียงโครงการเดียว

เพราะถ้าพูดก็ไม่ต่างจากการยอมรับว่า บริษัทรับเหมา “ยักษ์ใหญ่” และ “โบราณ” แห่งนี้ต้องพึ่งพิงแค่เพียง “เปรมชัย” เพียงคนเดียว เพราะในตอนที่ “เปรมชัย” ประสบปัญหาไม่สามารถนั่งคุมบริษัทได้ ก็พบว่า บริษัทแห่งนี้แทบจะถึงขั้น “อัมพาต” ไปเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม จากการเปิดเผยตัวเลขของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) พบว่า จนถึงสิ้นปี 2566 มีมูลค่าหุ้นกู้ที่มีปัญหาคงค้างจำนวน 39,412 ล้านบาท แยกเป็นหุ้นกู้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ (Default) มูลค่ารวม 22,295 ล้านบาท จำนวน 7 บริษัท เฉพาะหุ้นกู้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ในปีที่ผ่านมา มีจำนวน 5 บริษัท มูลค่าทั้งสิ้น 16,363 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย

1. บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL) จำนวน 7 รุ่น มูลค่า 2,334 ล้านบาท

2. บมจ.สตาร์ค คอร์เปเรชั่น (STARK) จำนวน 5 รุ่น มูลค่า 9,198 ล้านบาท

3. บมจ. ช ทวี (CHO) จำนวน 4 รุ่น มูลค่า 409 ล้านบาท (ล่าสุด CHO เจรจาขอยืดหนี้หุ้นกู้ได้สำเร็จ)

4. บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) จำนวน 7 รุ่น มูลค่า 3,212 ล้านบาท

5. บริษัท เดสติเนชั่น รีสอร์ทส์ จำกัด (DR) จำนวน 2 รุ่น มูลค่า 1,210 ล้านบาท

ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่า แนวโน้มในปี 2567 นี้ ก็จะมีหุ้นกู้อีกหลายตัวที่อาจจะเดินตามแนวทางของการผิดนัดชำระแบบที่เกิดขึ้นกับ ITD และเกิดขึ้นกับ JKN ซึ่งกำลังรอฟังคำสั่งศาลปกครองกลาง ที่คาราคาซังมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว...

บอกเลยว่า เรื่องมหากาพย์หุ้นกู้ในปีนี้ยังระอุ คุกรุ่น และ หากมีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลขึ้น เจ๊เมาธ์ยืนยันว่า จะไม่พลาดที่จะเก็บเอามาเล่าให้แฟนคลับ ได้รับรู้อย่างแน่นอนเจ้าค่ะ