Reef-Safe Sunscreen : ดีต่อผิว ดีต่อทะเล

29 พ.ค. 2567 | 03:57 น.

Reef-Safe Sunscreen: ดีต่อผิว ดีต่อทะเล : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย...ผศ.ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3996

ครีมกันแดดเป็นเครื่องสำอางประเภทหนึ่ง ที่ทุกคนแทบจะขาดไม่ได้ ในการดูแลใบหน้าและผิวของตัวเอง นอกจากจะช่วยให้ใบหน้าและผิวไม่หมองคล้ำแล้ว ยังช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งผิวหนังได้อีกด้วย แต่คุณผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า ครีมกันแดดที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้สามารถทำลายสิ่งแวดล้อมได้ด้วย 

ในปัจจุบัน หลายประเทศเริ่มรณรงค์และบังคับใช้ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกกันว่า “Reef-Safe Sunscreen” กันมากขึ้น บทความนี้ผู้เขียนจึงอยากจะชวนผู้อ่านมารู้จักกับ Reef-Safe Sunscreen กัน 

ครีมกันแดดที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 

1.ครีมกันแดดแบบ Chemical sunscreen คือ ครีมกันแดดแบบเคมี ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลาย มีส่วนผสมของสารออกซีเบนโซน (Oxybenzone) บิวทิลพาราเบน (Butylparaben) และออกติน็อกเซท (Octinoxate) ซึ่งเป็นสารอันตรายต่อปะการัง รวมถึงสิ่งมีชีวิตประเภทอื่น ๆ ใต้ทะเล

2.ครีมกันแดดแบบ Reef-Safe หรือ Physical Sunscreen คือ ครีมกันแดดที่เป็นมิตรต่อทั้งคนและปะการัง มีสารสำคัญ 2 ชนิด คือ ซิงก์ออกไซด์ (Zinc Oxide) และไทเทเนียมไดออกไซด์ (Titanium Dioxide) ที่ไม่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศใต้ทะเล และสารทั้งหมดที่ใช้จะต้องมีอนุภาคขนาด 100 นาโนเมตรขึ้นไป เพื่อไม่ให้ซึมเข้าสู่ปะการังและผิวหนังของคน แต่ก็ยังทำหน้าที่เคลือบผิวและสะท้อนรังสี UVA และ UVB ได้ 

โดยที่ซิงก์ออกไซด์ (Zinc Oxide) มีคุณสมบัติป้องกันรังสี UVA และช่วยรักษาอาการอักเสบของสิว ส่วนไทเทเนียมไดออกไซด์ (Titanium Dioxide) มีคุณสมบัติป้องกันรังสี UVB และไม่เสื่อมสภาพเวลาโดนแสงแดดระหว่างวัน ทำให้ไม่ต้องทาครีมกันแดดบ่อย ๆ
สาเหตุที่หลาย ๆ ประเทศเริ่มตื่นตัวเรื่องการใช้ Reef-Safe

Sunscreen นั้น เริ่มมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ปะการังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศใต้ทะเลมาก เนื่องจากเป็นทั้งบ้าน แหล่งอาหาร และแหล่งอนุบาลของทรัพยากรประมงในทะเลหลายชนิด โดยปกติ ปะการังมีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยร่วมกับสาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) ซึ่งสาหร่ายชนิดนี้ทำหน้าที่สังเคราะห์ด้วยแสง และสร้างอาหารให้แก่ปะการัง 

ในขณะเดียวกันสาหร่ายก็จะนำของเสีย เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ และ ฟอสเฟต มาสร้างอาหารให้ตัวเอง หากน้ำทะเลเกิดสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่ายซูแซนเทลลี เช่น มีสารเคมีปนเปื้อน หรืออุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น จะทำให้สาหร่ายซูแซนเทลลีคลายตัว และหลุดออกจากเนื้อเยื่อปะการัง ทำให้ปะการังกลายเป็นสีขาว ซึ่งเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching)” นั่นเอง

ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า ในแต่ละปีครีมกันแดดกว่า 14,000 ตัน ถูกชะล้างลงสู่ทะเล ทำให้ปะการังทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง สาเหตุหลัก ๆ เกิดจากผู้คนอาบน้ำชำระล้างคราบครีมกันแดดออกจากร่างกาย สารปนเปื้อนก็จะไหลไปกับท่อระบายน้ำลงสู่ทะเล หรือเวลาที่เราไปว่ายน้ำหรือดำน้ำในทะเล หรือเกิดจากโรงงานผลิตครีมกันแดดปล่อยของเสียลงสู่แหล่งน้ำ เป็นต้น  

แม้ว่าสารกันแดดที่ไหลลงไปปนเปื้อนกับน้ำทะเลมีปริมาณเพียงเล็กน้อย แต่ก็ทำให้ผลกระทบต่อปะการังและสิ่งแวดล้อมทางทะเลมหาศาล จากงานวิจัยขององค์กร National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่า ปะการังอ่อนที่สัมผัสกับสาร Oxybenzone จะไปทำลายระบบสืบพันธุ์และตัวอ่อนปะการัง ทำให้ปะการังไม่เติบโต พิการหรือตายได้ 

ส่วนสาร Octinoxate ก็มีส่วนทำลายสมดุลระหว่างปะการังและสาหร่ายซูแซนเทลลี โดยไปกระตุ้นให้สาหร่ายผลักออกจากเนื้อเยื่อปะการัง นำไปสู่สภาวะปะการังฟอกขาว 

นอกจากสารทั้ง 2 ชนิดนี้แล้ว ยังมีสารเคมีอีก 2 ชนิดที่ส่งผลกระทบต่อปะการังเช่นเดียวกัน ได้แก่ 4-Methylbenzylidene Camphor (4MBC) ที่ทำให้น้ำทะเลปนเปื้อนมากขึ้น ทำลายระบบนิเวศของปะการัง และ Butylparaben เป็นวัตถุกันเสีย ซึ่งส่งผลให้ปะการังฟอกขาวโดยตรง 

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงทำให้หลาย ๆ ประเทศเริ่มควบคุมการใช้ครีมกันแดด ที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการัง รวมถึงประเทศไทยด้วย สำหรับประเทศไทยนั้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2564 มีใจความว่า เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลเป็นจำนวนมาก 

รวมทั้งมีการนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและระบบนิเวศในอุทยานแห่งชาติ จึงออกประกาศห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

เมื่อผู้อ่านได้อ่านมาถึงตรงนี้ คงเริ่มตระหนักแล้วว่า ครีมกันแดดที่เราใช้อยู่นั้นส่งผลกระทบต่อปะการังมากน้อยเพียงใด อ่านดูอาจจะเป็นเรื่องไกลตัว เราอาจจะคิดว่าถึงแม้ว่าเราจะทาครีมกันแดดทุกวันและไม่ได้ไปท่องเที่ยวทะเล ก็ไม่น่าจะส่งผลต่อปะการังได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าน้ำจากท่อระบายน้ำจากที่อยู่อาศัยของเรา ก็สามารถไหลออกสู่ทะเลได้ และถ้าพวกเราทุกคนใช้ครีมกันแดด ที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการัง ทรัพยากรทางทะเลก็จะยิ่งประสบปัญหามากยิ่งขึ้น    

                         Reef-Safe Sunscreen : ดีต่อผิว ดีต่อทะเล

ในอนาคตผู้เขียน คาดว่าน่าจะมีอีกหลายประเทศที่จะกำหนดมาตรการทางกฎหมาย เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น และเข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากแนวโน้มการท่องเที่ยว การใช้ประโยชน์จากทะเล และปัญหามลพิษทางทะเลนั้น จะเพิ่มมากขึ้น หากประเทศใดไม่สามารถปกป้องทะเล ที่เรียกได้ว่า เป็นจุดกำเนิดของแหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งสร้างรายได้ของประเทศได้ อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อถึงตอนนั้นการแก้ไขหรือฟื้นฟูให้ทรัพยากรทางทะเลกลับคืนมาอยู่ในสภาพเดิมอาจสายเกินแก้

นอกจากมาตรการทางกฎหมายแล้ว ภาครัฐอาจจะต้องมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประชาชนใช้ Reef-Safe Sunscreen กันให้มากขึ้น เช่น การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องของครีมกันแดด ให้ประชาชนรู้จักและตระหนักถึงผลกระทบ 

การประชาสัมพันธ์การบังคับใช้ Reef-Safe Sunscreen ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล การสนับสนุนให้ผู้ผลิตครีมกันแดดหลาย ๆ รายปรับตัวมาผลิตครีมกันแดดที่เป็นมิตรต่อปะการังมากขึ้น เช่น การสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีการผลิต การปรับคุณสมบัติของเนื้อครีมของ Reef-Safe Sunscreen ให้ผู้บริโภคใช้ง่าย ไม่เหนียวเหนอะหนะ รวมไปถึงการสนับสนุนทางการเงิน เช่น การให้เงินอุดหนุน เป็นต้น

รวมไปถึงการกำหนดหรือควบคุมราคาของ Reef-Safe Sunscreen ให้เหมาะสม ราคาไม่สูงเกินไปสำหรับผู้บริโภคเพราะว่าสินค้ารักษ์โลกมักจะมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไป และที่สำคัญ เริ่มต้นจากที่ตัวเรา ทุกคนควรตระหนักว่าการใช้ Reef-Safe Sunscreen นั้นไม่จำเป็นจะต้องใช้ตอนที่ไปเที่ยวทะเลเท่านั้น แต่จำเป็นต้องใช้ทุกวันถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ไปท่องเที่ยวทะเลก็ตาม 

หมายเหตุ: ผู้เขียนขอขอบคุณคุณศตพร ใจสมคม สำหรับการค้นคว้าข้อมูลของบทความนี้