กูรูเหล็ก “สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล” ตั้งคำถาม ค้าเสรีแต่ยุติธรรมหรือไม่

25 พ.ค. 2567 | 02:02 น.

เป็นประเด็นที่น่าจับตามอง เมื่อกลุ่มผู้ผลิตเหล็กต่างออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลลงมาดูแลอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศอย่างจริงจัง หลังจากสถานการณ์การใช้กำลังการผลิตโดยรวมไม่ถึง 35%

กูรูเหล็ก “สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล” ตั้งคำถาม ค้าเสรีแต่ยุติธรรมหรือไม่

ส่งผลให้ผู้เล่นรายใหญ่ในวงการเหล็กนั่งไม่ติด เช่นเดียวกับ “นายสมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล” ประธานกิตติมศักดิ์ และผู้ก่อตั้ง บริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน) และบริษัท จี เจ สตีล จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัท จี สตีล ที่มีธุรกิจหลากหลาย และเป็นนักสู้แห่งวงการเหล็กที่ยังไม่ยอมถอดใจ และพยายามดิ้นปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันมาอย่างต่อเนื่อง เปิดใจกับ “ฐานเศรษฐกิจ”แบบตรงไปตรงมาถึงการต่อสู้ และการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ต้องเดิมพันด้วยเงินลงทุนมูลค่ามหาศาล

กูรูเหล็ก “สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล” ตั้งคำถาม ค้าเสรีแต่ยุติธรรมหรือไม่

จับมือ NSC ลุยเหล็กคุณภาพ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเหล็กยังมีความจำเป็นต่อประเทศไทยอย่างมาก เพราะเป็นอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน ที่ผ่านมาจึงรุกหนักในการพัฒนา และปรับปรุงให้อุตสาหกรรมเหล็กมีคุณภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมองเห็นถึงความสำคัญในการแข่งขันในอนาคตที่นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นการที่ Nippon Steel Corporation  (NSC) ผู้ผลิตเหล็กอันดับ 1 ของญี่ปุ่น และอันดับ 4 ของโลก เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในบริษัทมหาชนทั้งสองบริษัท คือ บมจ. จี สตีล และ บมจ.จี เจ สตีล ถือเป็นเรื่องดีที่จะร่วมกันยกระดับอุตสาหกรรมเหล็ก

สำหรับ บมจ. จี สตีล และ บมจ.จี เจ สตีล ในฐานะเป็นผู้ผลิตเหล็กต้นนํ้าเหล็กรีดร้อน แบบครบวงจร มีขนาดกำลังผลิตรวมกัน 3 ล้านตันต่อปี เป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่สุดในอาเซียน ผลิตวัตถุดิบ Slab โดยหล่อหลอมแบบระบบ Electric Arc Furnace. Green Steel ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในเวลานี้ด้วยการลงทุนเครื่องจักรผลิตเหล็กคุณภาพระดับโลก ทั้ง 2 บริษัทใช้เงินลงทุนก่อนหน้านี้ไม่ตํ่ากว่า 40,000 ล้านบาท จาก NSC เป็นบริษัทผลิตเหล็กระดับโลกและเงินทุนที่มั่นคงแข็งแรง ผู้ถือหุ้นต่างมีความหวังว่า บมจ. จี สตีล และบมจ. จี เจ สตีล จะกลับมาเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ เป็นผู้นำด้านเหล็กของประเทศ มีกำไร และสามารถผลิตทดแทนการนำเข้าได้มากขึ้น

“สถานะกลุ่ม NSC เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ มาแทนกลุ่มกองทุน กลุ่ม ดร.สมศักดิ์ ที่เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 และผู้ถือหุ้นรายย่อย การที่ NSC เข้ามาเพราะต้องการขยายธุรกิจในไทย และปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพเหล็กของไทย บวกกับที่เทคโนโลยีการผลิตของทั้ง 2 บริษัททันสมัยมาก ที่สำคัญเป็นระบบการผลิตจากเตาหลอมด้วยเตาชนิดอาร์คไฟฟ้า (Electric Arc Furnace) หรือ EAF แบบครบวงจรใหญ่สุดในเซาท์อีสต์เอเชีย ทำให้ลดปัญหามลพิษ หลังจากมีการปรับคุณภาพซักระยะ สองบริษัทจะสามารถผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนคุณภาพสูงทดแทนการนำเข้าได้ในปริมาณที่ตลาดต้องการ”

กูรูเหล็ก “สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล” ตั้งคำถาม ค้าเสรีแต่ยุติธรรมหรือไม่

นายสมศักดิ์ ย้อนที่มาของการเข้ามาของทุน Nippon Steel Corporation (NSC) ถึงการที่ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนถือหุ้นใหญ่ผ่านกองทุนที่เข้ามาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ว่า

 “ทางกองทุนปรึกษาผมบอกว่าขายหุ้นบางส่วนให้ญี่ปุ่นดีมั้ย ผู้บริหารส่วนใหญ่และผมก็เห็นด้วยและมองระยะไกล ว่าทุนญี่ปุ่นรายนี้ (NSC) มีความมั่นคงเป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ มีต้นทุนการเงินที่ถูก อีกทั้งในอนาคตการแข่งขันจะยิ่งสูงขึ้น และอุตสาหกรรมเหล็กต้องเป็นอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนการเงินถูก เพราะใช้เงินหมุนเวียนมาก และ NSC ก็มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีด้านการผลิตเหล็กระดับโลกอยู่แล้ว โดยเป็นผู้ผลิตเหล็กอันดับ 1 ของญี่ปุ่น และเป็นอันดับ 4 ของโลก มีการบริหารแบบโปร่งใส ประเทศใดไม่มีอุตสาหกรรมเหล็กของตัวเองในประเทศถือเป็นความเสี่ยงระยะยาวเพราะเหล็กเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานความมั่นคงของชาติ เชื่อมโยงกับหลายอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือเกษตร และงานก่อสร้างต่าง ๆ ล้วนเกี่ยวข้องทั้งหมด”

กูรูเหล็ก “สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล” ตั้งคำถาม ค้าเสรีแต่ยุติธรรมหรือไม่

เหล็กถูก-คุณภาพตํ่าปัญหาใหญ่

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เวลานี้เกิดการค้าขายที่ไม่ยุติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำเข้าเหล็กคุณภาพตํ่าหรือเหล็กปนเจือที่ไม่ตรงสเปกที่กำหนด เพื่อหลบภาษี AD เข้ามาตีตลาด เป็นเรื่องจำเป็นมากที่รัฐต้องลงมาดูแลอย่างใกล้ชิดและรับมือได้ทันสถานการณ์ จากการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรมในอุตสาหกรรมเหล็กมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากมีกำลังการผลิตส่วนเกินในระดับโลก ขณะภูมิภาคของเรามีการใช้เหล็กมากขึ้น โรงงานเหล็กของไทยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตตํ่ามาก แสดงว่าเรายังมีโอกาสผลิตเหล็กได้มากกว่านี้

ปัญหาการนำเข้าตอนนี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่รวม ๆ แล้วมีการนำเข้าประมาณ 10 ล้านตันมาจากทั่วโลก ตรงนี้รัฐบาลจะต้องไปดู เพื่อควบคุมเรื่องคุณภาพ ขณะนี้ราคาเหล็กผันผวนขึ้น-ลงแรง เพราะราคานํ้ามัน ไฟฟ้าแพง รัฐต้องลงมาดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็กคือกระดูกสันหลังของประเทศที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ

กูรูเหล็ก “สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล” ตั้งคำถาม ค้าเสรีแต่ยุติธรรมหรือไม่

“เหล็กไทยจะอยู่รอดต่อไปได้ต้องไปลดต้นทุนการผลิต ลดต้นทุนทุกอย่าง พร้อมกับปรับปรุงคุณภาพการผลิต ขณะที่ภาครัฐจะต้องลงมาดูแลอย่างจริงจังในเรื่องการดัมพ์ราคาจากการนำเข้าให้มากขึ้น เวลานี้ผู้ผลิตในประเทศใช้กำลังผลิตเหล็กในประเทศรวมกันแค่ 30% ถือเป็นเรื่องน่าห่วงมาก รัฐต้องดูว่าการค้าเสรียุติธรรมหรือไม่ในขณะนี้ เรื่องเสรีผมไม่กลัว แต่ถ้าเสรีแล้วเอาเหล็กไม่ดีเข้ามาขายในราคาดัมพ์ตลาดถือว่าแบบนี้ไม่ยุติธรรม”

ไทยต้องการใช้เหล็กปีนี้ 17.5 ล้านตัน

สำหรับภาพรวมตลาดเหล็ก ข้อมูลจากสถาบันเหล็ก เมื่อปี 2566 มีความต้องการใช้เหล็กในประเทศ  16.3 ล้านตัน โดยแบ่งเป็นเหล็กทรงยาว  6.2 ล้านตัน  และเหล็กทรงแบน  10.1 ล้านตัน และคาดการณ์ปริมาณการใช้เหล็กในประเทศปี 2567 เท่ากับประมาณ  17.5 ล้านตัน เปรียบเทียบความต้องการใช้เหล็กปี 2566 ของประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน คาดว่าจะมีการเติบโตแตกต่างกันไป ดังนี้  เวียดนาม 22.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.9%  อินโดนีเซีย 17.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.8%  ฟิลิปปินส์ 10.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.9%  มาเลเซีย 7.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.0%  และสิงคโปร์ 2.5 ล้านตัน ทรงตัว 0%

เปิดสถานะผู้เล่นรายใหญ่โลก

จากการเปิดเผยของ สมาคมเหล็กโลก (World Steel Association)ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก 5 รายแรกเรียงตามลำดับประกอบด้วย  1.ไชน่า บาวน์ กรุ๊ป (China Baowu Group) จากจีน มีขนาดกำลังผลิต 131.84 ล้านตัน  2. อัลเซอลอร์ มิตัล (Arcelor Mittal) ประเทศ ลักเซมเบอร์ก มีกำลังผลิต 68.89 ล้านตัน 3.อัลสตีล กรุ๊ป (Ansteel Group)ประเทศจีน กำลังผลิต 55.65 ล้านตัน 4.นิปปอน สตีล คอร์ปอเรชั่น (Nippon Steel Corporation หรือNSC) จากญี่ปุ่น กำลังผลิต 44.37 ล้านตัน 5.Shagang Group จากจีน  กำลังผลิต 41.45ล้านตัน