บิ๊ก 3 สมาคมกังวลครึ่งหลัง การเมือง-เศรษฐกิจโลก ฉุดธุรกิจวูบ

17 มิ.ย. 2566 | 01:55 น.

หลายธุรกิจยังพูดได้ไม่เต็มปากว่าตลอดทั้งปีนี้จะดำเนินธุรกิจได้ประสบผลสำเร็จแค่ไหน จากครึ่งปีหลังยังเต็มไปด้วยข้อกังวล เฉพาะปัญหาการเมืองในประเทศ ใครจะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และจะนำพาบ้านเมืองไปสู่ความสงบสุขและสร้างความเชื่อมั่นได้หรือไม่

บิ๊ก 3 สมาคมกังวลครึ่งหลัง การเมือง-เศรษฐกิจโลก ฉุดธุรกิจวูบ

“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจท่าทีตัวแทนภาคเอกชนจาก 3 สมาคมใหญ่ พบว่านอกจากมีความกังวลปัญหาการเมืองในประเทศแล้ว ยังห่วงเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นทุกด้าน ภาระหนี้สินที่สะสม เป็นต้น ซึ่งหากรับมือไม่ทันจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันถดถอยได้

เปิดข้อกังวลกลุ่มทุน SMEs

นายแสงชัย  ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย มองภาพรวมครึ่งหลังปี 2566 ว่า ถ้ามองจากปัจจัยภายในประเทศ ไล่ตั้งการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐ มาตรการทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ถือมีความต่อเนื่องในการฟื้นฟู การกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระจายรายได้ลงเศรษฐกิจฐานราก

อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังมีข้อกังวลเรื่องความล่าช้าในการพิจารณางบประมาณภาครัฐที่จะกระจายลงหน่วยงาน และในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนายกระดับหนี้ครัวเรือนที่มีคุณภาพ เพื่อลดหนี้เสีย และหนี้นอกระบบ รวมทั้งมาตรการฟื้นฟู NPL รหัส 21 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องคือ มาตรการดูแลบริหารจัดการต้นทุนพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต ปุ๋ย อาหารสัตว์ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และส่งผลต่อต้นทุนผู้ประกอบการ SMEs

แสงชัย  ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

ส่วนปัจจัยนอกประเทศ ยังมีข้อกังวลถึงการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจระหว่างประเทศ ภูมิรัฐศาสตร์โลก อาทิ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ขั้วอำนาจสหรัฐฯ-จีน รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกถดถอย และเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ส่งผลต่อประเทศไทย และทั่วโลก

“หลังได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ต้องการให้มีนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ กระจายโอกาส กระจายรายได้ กระจายอำนาจ (กำลังซื้อ) และมีมาตรการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานภาครัฐเชื่อมโยงภาคเอกชนด้วยระบบบล็อกเชน เพื่อประสิทธิภาพ มีกระบวนการส่งต่องานระหว่างหน่วยงาน ลดขั้นตอนทำให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ และลดต้นทุนให้ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการ”

บิ๊ก 3 สมาคมกังวลครึ่งหลัง การเมือง-เศรษฐกิจโลก ฉุดธุรกิจวูบ

รับมือ 5 เรื่องหนีปัญหา

จากข้อกังวลดังกล่าวทำให้กลุ่ม SME ต้องรับมือคือ 1.สร้างการตระหนักรู้ และใช้ประโยชน์ความสร้างสรรค์ นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มทั้ง Creative Economy- BCG Economy โดยเร่งยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการ SME และภาคแรงงานอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มผลิตภาพแรงงาน นำไปสู่การสร้างความยั่งยืนให้ผู้ประกอบการ SME (SME Sustainnovation)

 2.การส่งเสริมระบบกองทุนฟื้นฟูและพัฒนา SME เพื่อกระจายโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำกับผู้ประกอบการรายย่อย และมีกระบวนการฟื้นฟู ถอดบทเรียน พัฒนาอย่างสร้างสรรค์ต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืน

3.ภาครัฐต้องส่งเสริมผู้ประกอบการภายในประเทศผลิตสินค้า ปัจจัยการผลิตที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศให้ผลิตเองในประเทศ ลดการนำเข้า ลดต้นทุน ลดการพึ่งพาต่างประเทศ สร้างความเข้มแข็ง กระจายรายได้ให้เศรษฐกิจท้องถิ่น

4. ส่งเสริมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกับผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นให้เข้าถึงมากยิ่งขึ้น ช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

5. สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME เพิ่มความตระหนักรู้ ใช้ประโยชน์จาก Crarbon credit - Carbon neutrality - Net zero เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว และลดผลกระทบจากการใช้ Carbon credit มาเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าของต่างประเทศ

ยานยนต์ห่วงเชื่อมั่นลงทุน

ด้าน ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวถึง ปัจจัยเสี่ยงในครึ่งปีหลังว่า หากโฟกัสไปที่ 3 เรื่องคือ การเมืองในประเทศ, เศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซา และช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ มองแต่ละเรื่องเป็นดังนี้

1.การเมืองในประเทศ  เสถียรภาพการเมือง ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะความชัดเจนและต่อเนื่องของมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนต่างๆ มีผลอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจยานยนต์ หากสถานการณ์การเมืองบานปลายไปจนถึงขั้นเกิดความไม่สงบในประเทศ ย่อมส่งผลเสียอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะในยุคที่มีการแข่งขันสูงในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่หลายประเทศกำลังแย่งชิงความเป็นผู้นำในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของภูมิภาค

2.เศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซา ย่อมส่งผลต่อภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างมากเช่นกัน เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ และมากกว่าร้อยละ 50 ของการผลิตได้ส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก 3.ช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันการผลิตรถยนต์ของไทย กว่า 1.9 ล้านคัน เกือบทั้งหมดเป็นรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE)

ขณะที่เทคโนโลยียานยนต์ที่เข้ามาในปัจจุบัน เป็นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ตามหลัก CASE (Connected, Autonomous, Share, Electrified) หากไทยไม่สามารถดึงดูดการลงทุนในยานยนต์สมัยใหม่ได้ อาจทำให้เสียตำแหน่งการเป็นผู้นำการผลิตยานยนต์ของภูมิภาคได้

เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์

“ดังนั้นไทยต้องมีการปรับตัว และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ  นี้ ทั้งความพร้อมด้านห่วงโซ่การผลิตต่าง ๆ โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทักษะของแรงงานในการผลิตและบริการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกฎระเบียบและมาตรการส่งเสริมต่าง ๆ”

ในทางตรงข้าม หากเราใช้จุดแข็งจากการที่ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ มีผู้ผลิตในห่วงโซ่การผลิตที่แข็งแรง ทักษะแรงงานที่ดี มีนโยบายส่งเสริมที่ชัดเจน พร้อมภาพลักษณ์ที่ดีจากการการยอมรับในคุณภาพรถยนต์ที่ประกอบในไทย หากสามารถขยายขีดความสามารถในการแข่งขันครอบคลุมเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็น่าจะทำให้ไทยสร้างความเข้มแข็งและขยายบทบาทการเป็นผู้นำการผลิตรถยนต์ของโลกแห่งหนึ่งได้ไม่ยากนัก

รับมือความท้าทายรอบ 30 ปี

ขณะที่ ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า โจทย์ทางเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ท้าทายระดับสูงสุดในรอบ 30 กว่าปีที่ผ่านมา ธุรกิจแทบทุกระดับจำเป็นต้องมี Big Game Changers เพื่อที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่หนักหนาสาหัสมาก และต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก

สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์

“ในช่วงโควิดโจทย์ของเราจะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเพื่อน ๆ พนักงาน ความต่อเนื่องของการผลิตทำให้เราขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจด้วยการบริหารแบบให้มีวัสดุคงคลังที่สูงมาก พอสถานการณ์โควิดดีขึ้นเรากลับมาเจอปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอย (Recession) อีก ทุกอุตสาหกรรมจำเป็นต้องรีบลดจำนวนวัสดุคงคลังให้ลดลงโดยเร็วอย่างเร่งด่วน”

นอกจากนี้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเตรียมตัวตลอดเวลาเพื่อรองรับปัจจัยเสี่ยงใหม่ ๆ ที่อาจจะเพิ่มขึ้นมาในช่วงครึ่งปีหลังปี โดยเฉพาะข้อกังวลด้านเศรษฐกิจโลกถดถอยที่อาจจะยาวนานขึ้น ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์การแบ่งขั้วประเทศมหาอำนาจที่มีความไม่แน่นอนสูงมากและยากที่จะคาดเดาทิศทาง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนทำให้ต้นทุนการดำเนินการทางธุรกิจในภาคการผลิตตลอดห่วงโซ่การผลิต (ซัพพลายเชน)แย่ลงไปอีก

สำหรับประเทศไทย หลังจากได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม ต้องมองหาธุรกิจ อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่มีการเติบโตแบบยั่งยืน  และที่สำคัญต้องสร้างรายได้ประชาชาติที่สูงมากขึ้นแบบก้าวกระโดดเพื่ออนาคตของประเทศ

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3897 วันที่ 18 -21 มิถุนายน พ.ศ. 2566