“สุริยะ” มองอุตฯไทย ปี 66 รถยนต์-อาหารรุ่ง เหล็ก-สิ่งทอหืด

16 มี.ค. 2566 | 01:30 น.

ปี 2566 เป็นปีที่มีทั้งโอกาสและความเสี่ยงสำหรับประเทศไทย แม้ภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาดำเนินการได้เป็นปกติจากการเปิดประเทศ ภาคท่องเที่ยวเห็นสัญญาณการเติบโตต่อเนื่อง

“สุริยะ” มองอุตฯไทย ปี 66 รถยนต์-อาหารรุ่ง เหล็ก-สิ่งทอหืด

แต่การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกับปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงมุมมองภาพรวมด้านเศรษฐกิจ รวมถึงทิศทางภาคอุตสาหกรรมไทยในปีนี้ และทิศทางในอนาคตสู่ยุค 4.0

  • เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง

นายสุริยะ เผยว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงครึ่งปีแรก เศรษฐกิจคาดฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศของต่างชาติ ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเช่นช้อปดีมีคืน ช่วยสนับสนุนการบริโภคฟื้นตัวดีขึ้น

ด้านเศรษฐกิจโลก ยังได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานและภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลค่าครองชีพยังอยู่ระดับสูง กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ห่วงโซ่การผลิตที่เชื่อมโยงกันระหว่างประเทศกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์คลี่คลาย ค่าระวางเรือขนส่งสินค้าปรับตัวลง ส่งผลให้การผลิตและการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวต่อไปได้

ส่วนช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจในประเทศยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ประกอบกับนักลงทุนจากต่างประเทศที่เริ่มทยอยเข้ามา มีส่วนช่วยสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ลดความตึงเครียดลง อาจส่งผลให้ราคาพลังงานและภาวะเงินเฟ้อชะลอตัวลง และจะมีผลถึงระดับราคาสินค้ามีทิศทางปรับตัวลดลงได้ เป็นปัจจัยที่ช่วยให้กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น และผลักดันให้บรรยากาศการค้าระหว่างประเทศฟื้นตัวตามไปด้วย

สุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

  • เปิดโผอุตสาหกรรม“รุ่ง-ชะลอตัว”

สำหรับแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2566 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโต ได้แก่ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตตามตลาดโลก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน, เครื่องปรับอากาศ, อาหารและเครื่องดื่ม และเม็ดพลาสติก 2.กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวตามเศรษฐกิจในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมการกลั่นนํ้ามัน โดยเฉพาะนํ้ามันเบนซินและดีเซลที่ขยายตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมยางรถยนต์ เภสัชภัณฑ์ และ 3.กลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัวตามการท่องเที่ยว เช่น อุตสาหกรรมกระเป๋าเดินทาง เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

กลุ่มที่สอง อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มชะลอตัว ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ผลกระทบจากต้นทุนด้านพลังงาน กระทบต่อต้นทุนการผลิตสูง ขณะความต้องการใช้เหล็กยังคงชะลอตัว อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และสิ่งทอ จากผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย จากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก

  • นโยบายรัฐช่วยขับเคลื่อน

อย่างไรก็ดี นายสุริยะ มองว่า ภาพรวมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้รับอานิสงส์จากนโยบายรัฐด้วย เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งขับเคลื่อนและพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม (Ecosystem) เพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 และส่งเสริมการประกอบกิจการตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green) เช่น การต่ออายุการยกเว้นค่าธรรมเนียมเครื่องจักรออกไปอีก 1 ปี ถึงวันที่ 21 ม.ค. 2567 เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เจ้าของเครื่องจักรนำเครื่องจักรมาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์และสามารถนำเครื่องจักรนั้นไปจดจำนองเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้

ส่วนผู้ประกอบการขนาดเล็ก ในปี 2565 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการมากกว่า 14,000 ราย สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมกว่า 7,000 ล้านบาท และในปี 2566 ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนมากกว่า 13,000 ราย คาดจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท

  • ยักษ์ใหญ่คึกคักปักฐานไทย

 รมว.อุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติได้กลับมาลงทุนไทยอีกครั้งหลังเปิดประเทศ เช่น บริษัท BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีน ตัดสินใจซื้อที่ดิน 600 ไร่จาก บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHA คาดจะเริ่มผลิตได้ในปี 2567 กำลังผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้า (EV) 1.5 แสนคันต่อปี เพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียนและยุโรป โดยกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อน

นอกจากนี้ยังสนับสนุนการผลิตชิ้นส่วน การผลิตแพลตฟอร์มสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า การให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่บริษัท AWS (Amazon Web Services) ผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ในเครือ Amazon ตัดสินใจลงทุนครั้งสำคัญในไทย ตั้ง Cloud Region โดยมีแผนที่จะขยายการลงทุนในไทยด้วยวงเงิน 1.9 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 15 ปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม ทำ Digital Transformation ได้รวดเร็วขึ้น

อีกทั้งยังมีเครื่องมือดึงดูดการลงทุนสำคัญที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี 2566 ได้แก่ มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ออกประกาศที่ 18/2565 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 เพื่อให้สิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาค ซึ่งนักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งในด้านยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรและอื่น ๆ จากภาครัฐ รวมถึงยังมีแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชน ในเรื่องการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ บวกกับมีแรงจูงใจจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐ เช่น ช้อปดีมีคืน ที่กระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงต้นปีโดยให้นำค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการมาหักลดหย่อนภาษีได้มากถึง 40,000 บาท

นายสุริยะกล่าวอีกว่า ถึงแม้ว่าในปี 2566 จะเป็นปีแรกที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยสามารถกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 แต่ก็ยังมีสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องพึงระวังจากปัจจัยลบจากภายใน และปัจจัยลบภายนอก (ดูกราฟิกประกอบ)  เพราะปัจจัยเหล่านี้อาจจำกัดการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้

“สุริยะ” มองอุตฯไทย ปี 66 รถยนต์-อาหารรุ่ง เหล็ก-สิ่งทอหืด

  • ผู้ประกอบการต้องพร้อมรับมือ

ดังนั้นเมื่อทุกภาคส่วนยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือไว้ด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการต้อง บริหารห่วงโซ่อุปทาน(Supply Chain) ให้มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ ลดการพึ่งพิงการผลิตสินค้าหรือการนำเข้าจากประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่ควรเริ่มมองหาโอกาสที่จะขยายฐาน/กระจายการผลิตหรือนำเข้าสินค้าจากหลาย ๆ ประเทศแทน หรืออาจจะเริ่มใช้การผลิตภายในประเทศมาแทนที่ รวมถึงการใช้ Big Data เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยแก้ปัญหาในหลายมิติ

นอกจากนี้ผู้ประกอบการต้องพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity) เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ รวมถึงพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในยุค New Normal โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย (Product Innovation) เช่น สินค้าที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นตามกระแส Well-Being และ Health Tech ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องหมั่นศึกษาเทรนด์โลก/ แนวโน้มการตลาดอยู่เสมอ และใช้โอกาสที่เกิดขึ้นในการพัฒนาสินค้ารองรับเทรนด์ดังกล่าวบนฐานนวัตกรรม

สอดคล้องกับการสร้างตลาดรถยนต์ EV ในขั้นแรก ไปสู่การสร้างฐานการผลิต EV ที่ครบวงจรซึ่งยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) เนื่องจากจะมาช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหรือโลกร้อน ปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 และปัญหาความผันผวนของราคาพลังงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต

โดยปี 2565 มีผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า BEV ใหม่รวม 20,816 คัน เพิ่มขึ้นจาก 5,781 คัน ในปี 2564 หรือเติบโตกว่า 3 เท่า และมีผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า BEV เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า BEV รวม 11 ราย ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก รวม 8 ราย เช่น TOYOTA, BENZ, Great Wall Motor, BYD และผู้ผลิตสัญชาติไทย เช่น MINE Mobility ทำให้เกิดการลงทุนผลิตยานยนต์ BEV รวมกว่า 27,000 ล้านบาท และการลงทุนผลิตชิ้นส่วน BEV รวมกว่า 18,000 ล้านบาท

คาดว่าภายในปี 2573 จะมีเงินลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับยานยนต์สมัยใหม่ รวมไม่ต่ำกว่า 1.6 แสนล้านบาท

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3870 วันที่ 16 -18 มีนาคม  พ.ศ. 2566