ผลการเลือกตั้ง 66 กับทิศทางอนาคตของประเทศไทย

15 พ.ค. 2566 | 05:17 น.

ผลการเลือกตั้ง 66 กับทิศทางอนาคตของประเทศไทย จับตากระแสการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ บ่งชี้ถึงทิศทางในอนาคตของประเทศอย่างไรบ้าง

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในรอบนี้ได้เริ่มออกมาอย่างไม่เป็นทางการ และปรากฎว่าประชาชนได้เลือกให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลเดิม โดยข้อมูลล่าสุด พบว่าขั้นรัฐบาลเดิมจะมีเสียงรวมกันประมาณใกล้ๆกับ 200 เสียง ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านเดิมจะรวมเสียงกันได้ 300 กว่าเสียง จึงสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนอยากให้มีรัฐบาลใหม่ที่แตกต่างไปจากรัฐบาลเดิมที่ได้บริหารประเทศมากกว่า 8 ปีแล้ว

กระแสการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ บ่งชี้ถึงทิศทางในอนาคตของประเทศอย่างไรบ้าง ? วันนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งและทิศทางอนาคตของประเทศไทย ดังนี้

ก่อนอื่น ผู้เขียนอยากจะใช้เครื่องมือมาช่วยสะท้อนแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองฝั่งรัฐบาลเดิม และฝั่งผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้มาเปรียบเทียบกัน โดยเครื่องมือดังกล่าวจะเป็นการกำหนดมุมมองทางการเมืองของพรรคการเมืองภายในกรอบรูป 3 เหลี่ยม ซึ่งในแต่ละมุมจะสะท้อนน้ำหนักของอุดมการณ์ว่าแต่ละพรรคการเมืองจะให้น้ำหนักกับอุดมการณ์ไหนมากกว่ากัน โดยยิ่งตำแหน่งของชื่อพรรคอยู่ใกล้กับอุดมการณ์ไหนก็จะสะท้อนว่าพรรคการเมืองให้น้ำหนักกับอุดมการณ์ดังกล่าวมากเท่านั้น

สำหรับพรรค 2 ลุง (พรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐ) จะให้น้ำหนักกับอนุรักษ์นิยมค่อนข้างมาก ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์จะมีความเป็นอนุรักษ์นิยมพอสมควรแต่ยังน้อยกว่าพรรค 2 ลุง และเพิ่มน้ำหนักอุดมการณ์ทางด้านเสรีนิยม ทั้ง 2 พรรคได้สะท้อนอุดมการณ์ของรัฐบาลที่ผ่านมาว่าให้น้ำหนักกับเรื่องอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมมาก่อนรัฐสวัสดิการ

ในทางตรงกันข้าม พรรคที่เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้แก่ พรรคก้าวไกล มีอุดมการณ์รัฐสวัสดิการเป็นหลัก ตามด้วยเสรีนิยม ในขณะที่พรรคเพื่อไทยจะค่อนข้างจะกลางๆ ระหว่างเสรีนิยม รัฐสวัสดิการและอนุรักษ์นิยม

นั่นคือ ทิศทางอนาคตของประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงจากอุดมการณ์นิยม-เสรีนิยม มาเป็น เสรีนิยม-รัฐสวัสดิการมากยิ่งขึ้น และเป็นเรื่องการเจรจาต่อรองระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยว่าน้ำหนักของความเป็นรัฐสวัสดิการกับความเป็นเสรีนิยมอันไหนจะให้น้ำหนักมากกว่ากัน

โดยส่วนตัว ผู้เขียนเห็นว่าการปรับจากอนุรักษ์นิยมไปเป็นเสรีนิยมเป็นไปตามกระบวนการพัฒนาทางการเมืองที่จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตมากยิ่งขึ้น ในขณะที่การปรับจากเสรีนิยมไปเป็นรัฐสวัสดิการจะนำไปสู่การเติบโตอย่างทั่วถึงมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ระบบเศรษฐกิจและการเมืองแบบ เสรีนิยม-รัฐสวัสดิการ จะพบกับความท้าทายคือ การรักษาสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการกระจายความมั่งคั่ง หากให้น้ำหนักกับการกระจายความมั่งคั่งมากจนเกินไปประเทศก็อาจจะไม่เติบโต ในขณะที่หากเน้นเสรีนิยมมากจนเกินไปกระจายความมั่งคั่งได้ไม่ดีพอ ก็จะเกิดปัญหารวยกระจุกจนกระจาย กลายเป็นว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็อาจจะเสียของให้ผลลัพธ์ที่ไม่แตกต่างไปจากเดิม

อนาคตของประเทศไทยจึงอยู่ที่การรักษาความสมดุลให้เกิดการเติบโตที่เพียงพอและมีการกระจายความมั่งคั่งที่มีประสิทธิภาพในเวลาอันเหมาะสม โดยโจทย์ที่ผู้เขียนมองว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญของพรรคก้าวไกลในแง่มุมนี้ คือ นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทในทันที และ นโยบายสวัสดิการเบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อเดือน ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูง และใช้งบประมาณค่อนข้างมากและมีผลผูกพันเป็นเวลานาน

ผลการเลือกตั้ง 66 กับทิศทางอนาคตของประเทศไทย