“อู่ฮั่น”นครแห่งสายน้ำพลังเศรษฐกิจใหม่ของจีน (1)

22 พ.ย. 2566 | 06:45 น.

“อู่ฮั่น”นครแห่งสายน้ำพลังเศรษฐกิจใหม่ของจีน (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3942

หากเอ่ยถึงเมืองอู่ฮั่น ผมคิดว่าคนไทยเกือบ “ร้อยทั้งร้อย” ต้องนึกถึงวิกฤติโควิด-19 มาเป็นอันดับแรกเป็นแน่ บ้างก็อาจคิดต่อไปว่า อู่ฮั่นคงเป็นเมืองขนาดเล็กที่ยังไม่เจริญ แต่แท้ที่จริงแล้ว อู่ฮั่นเป็นเมืองขนาดใหญ่กว่าทิ่คิด และมีสิ่งดีๆ มากมายที่น่าสนใจยิ่ง ...  

พอดีเมื่อเดือนก่อน ผมมีโอกาสอำนวยความสะดวกให้แก่คณะผู้บริหารระดับสูง/ของเครือสหพัฒนพิบูล และผู้ประกอบการในเครือข่าย นำโดยท่านบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัท ไปเยือนอู่ฮั่น

และกลายเป็นว่า ท่านบุญชัยฯ เป็นนักธุรกิจไทยคนแรกที่จัดคณะไปเยี่ยมเยือนอู่ฮั่นในยุคหลังโควิด หลังจากส่องอู่ฮั่นอยู่หลายวัน ท่านสารภาพในค่ำคืนสุดท้ายระหว่างเดินทางกลับที่พักว่า “ก่อนเดินทางมาอู่ฮั่น ภริยาของท่านกรุณาจัดหยูกยาสารพัดให้ พร้อมกับกำชับให้ใส่หน้ากากอนามัย พ่นจมูก ...”  

“แต่ครั้นพอลงเครื่องบิน ณ สนามบินอู่ฮั่น อันใหญ่โตมโหฬาร ก็ไม่เห็นมีใครสวมใส่หน้ากากอนามัยเลย ท่านก็เลยไปตามน้ำ ไม่ใส่บ้าง” ต้องเรียนว่าท่านบูญชัยฯ ยึดสุภาษิต “เข้ากรุงโรม ต้องทำตัวดั่งชาวโรมัน” เป็นที่ตั้งจริงๆ 

 

อู่ฮั่นเป็นเมืองเอกของมณฑลหูเป่ย และถือเป็นเมืองใหญ่อยู่เอาการ โดยมีพื้นที่เกือบ 8,500 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรมากกว่า 11 ล้านคน มากที่สุดในบรรดาเมืองในพื้นที่ตอนกลางของจีน และติดอันดับ 7 ของจีนในปัจจุบัน เรียกว่าใหญ่กว่า กทม. เมืองหลวงของไทยเราทั้งในเชิงขนาดและจำนวนประชากร 

ในเชิงเศรษฐกิจ นครอู่ฮั่นก็มีขนาดใหญ่ โดยมีจีดีพีคิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของไทยทั้งประเทศ และภายหลังวิกฤติโควิด รัฐบาลจีนก็เร่งอัดมาตรการมากมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมามีชีวิตีวาอีกครั้ง เศรษฐกิจในปีนี้และอนาคตจึงคาดว่าจะกลับมาเติบโตแรงมาก

อู่ฮั่นนับเป็น “นครแห่งสายน้ำ” อย่างแท้จริง พราะมีพื้นที่ “wetland” มากมาย ไล่ตั้งแต่แม่น้ำแยงซีเกียง หรือที่จีนเรียกว่า “แม่น้ำฉางเจียง” ที่ไหลพาดผ่านใจกลางเมืองอู่ฮั่นแห่งนี้

แม่น้ำแยงซีเกียงมีความยาวราว 6,300 กิโลเมตร ที่ไหลจากทิศตะวันตกไปยังตะวันออกของจีน และ นับเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดของทวีปเอเซีย และเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากแม่น้ำไนล์แห่งทวีปแอฟริกา และแม่น้ำอเมซอนแห่งทวีปอเมริกาใต้ 

หากแม่น้ำแยงซีเกียงอยู่ที่ไทย ก็จะยาวเหนือจรดใต้ถึงเกือบ 4 รอบ ขณะดียวกัน สายน้ำนี้ก็กว้างใหญ่กว่าแม่น้ำเจ้าพระยาของเรามาก บางช่วงกว้างหลายกิโลเมตรเลยทีเดียว 

นอกจากนี้ อู่ฮั่นยังมีทะเลสาบที่ขนาด 3 ตารางกิโลเมตรขึ้นไปอยู่อีกถึง 166 แห่ง หากท่านบินไปเยือนอู่ฮั่น ผมแนะนำให้มองลงไปที่พื้นดินก่อนเครื่องลง ก็จะเห็นทะเลสาบแหล่านี้อย่างละลานตา ตอนผมไปเมื่อคราวก่อน ผมยังหลงคิดว่า อู่ฮั่นยังจัดการกับปัญหาอุทกภัยไม่เรียบร้อยดี!!!

ด้วยสายน้ำดังกล่าวก็นำไปสู่อาหารชื่อดังและหลายสิ่งมากมายตามมา อาทิ บะหมี่ผัดแห้งที่คนท้องถิ่นนิยมรับประทานเป็นอาหารเช้า และรากบัวคุณภาพดี ซึ่งนำไปใช้ปรุงอาหารหลากชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งซุปรากบัวกระดูกหมูที่ทุกท่านไม่ควรพลาด

อีกสิ่งหนึ่งก็คือ คนอู่ฮั่นเลี้ยงและกินเป็ดกันมาก จนกลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ของเมืองนี้ ท่านผู้อ่านที่เดินทางไปจีนบ่อยๆ อาจสังเกตเห็นร้านแฟรนไชส์ “โจวเฮยยา” (Zhou Hei Ya) ที่มีโลโก้เป็นรูปผู้ชายใส่เสื้อและเน็กไทพร้อมกับใบหน้าที่ยิ้มแย้มในพื้นหลังสีเหลืองสะดุดตา 

บริษัทนี้ขายเนื้อ ชิ้นส่วน และเครื่องในเป็ดปรุงสุกแบบพร้อมรับประทานหลากหลายรสชาติ อาทิ ม๋าล่าที่เป็นที่นิยมในหมู่คนจีนในปัจจุบัน ขนาดผมเองก็ชอบซื้อหิ้วติดมือ กลับไปเป็นกับแกล้ม หรือ รับประทานเป็นอาหารเย็นที่โรงแรม

ธุรกิจของบริษัทเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง จนสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบัน บริษัทมีจุดจำหน่ายของตนเองมากกว่า 1,300 สาขาทั่วจีน หากเราเก่งอะไรสักอย่างในจีน และมุ่งมั่นทำจริง ก็สามารถร่ำรวยได้ครับ
นอกจากนี้ ในยุคหลังโควิด บริษัทก็พยายามปรับปรุงจุดจำหน่ายให้มีความ “ประหยัดและยืดหยุ่น” และเริ่มทยอยเปิดสาขาในต่างประเทศ 

ตอนผมไปครั้งหลัง อากาศที่อู่ฮั่นเริ่มหนาวเย็น ก็เลยได้ลิ้มชมรส “ปูขน” มีเรื่องเล่าว่า ด้วยแหล่งน้ำที่ดีก็ทำให้อู่ฮั่นเป็นแหล่งเลี้ยงปูขนสำคัญของจีน และมีรสชาติหวานอร่อย ปูขนที่เสริฟในภัตตาคารที่ฮ่องกงส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ย่านนี้ แต่ด้วยการอ่อนด้านการตลาด ก็เลยทำให้นักชิมส่วนใหญ่จะนึกถึงปูขนแถวปากแม่น้ำแยงซีเกียงเสียมากกว่า

แม่น้ำแยงซีเกียงยังนำไปสู่ “เทศกาลว่ายน้ำข้ามแยงซีเกียง” ในทุกวันที่ 16 กรกฎาคมของทุกปี และนับเป็นมหกรรมการว่ายน้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก 

คนท้องถิ่นเล่าให้ผมฟังว่า อดีตผู้นำจีนอย่าง ท่านเหมา เจ๋งตง ที่เป็นนักคิด และชื่นชอบการว่ายน้ำเป็นชีวิตจิตใจ เดินทางมาเยือนอู่ฮั่นทั้งสิ้น 47 ครั้ง และลงว่ายน้ำข้ามแยงซีเกียงถึง 17 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง โดยครั้งแรกเมื่อปี 1953 และครั้งสุดท้ายในปี 1966 ในวัย 73 ปีซึ่งสะท้อนว่าท่านมีสุขภาพที่แข็งแรงมาก

                       “อู่ฮั่น”นครแห่งสายน้ำพลังเศรษฐกิจใหม่ของจีน (1)

หลายครั้งที่ท่านเสร็จจากการว่ายน้ำ ก็ไปประชุมต่อ หรือใช้เวลาในการแต่งบทกวีที่งดงาม กวีบทหนึ่งที่ผมชื่นชอบก็ได้แก่ “ตัดสินใจแน่วแน่ ไม่กลัว เสียสละ ขจัดอุปสรรคต่างๆ ไปชิงเอาชัยให้ได้” อ่านแล้วก็จินตนาการได้ถึงความทุ่มเท เอาจริงเอาจังกับการกอบกู้ชาติ

บันทึกบางส่วนยังระบุว่า ท่านใช้ประโยชน์จากสายน้ำแห่งนี้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง โดยท่านเคยเปรียบเปรยไว้ว่า “แม่น้ำแยงซีเกียงนั้นลึกและไหลแรง ใช้ฝึกฝนร่างกายและจิตใจได้ดี ทุกคนล้วนกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำแยงซีเกียง อันที่จริงความยิ่งใหญ่ไม่ได้น่ากลัวอะไร” ซึ่งถูกใช้ปลุกระดมคนหนุ่มสาวของจีในยุคนั้นก่อนการปฏิวัติวัฒนธรรม

รัฐบาลท้องถิ่นได้จัดมหกรรมนี้ต่อเนื่องถึงครึ่งศตวรรษ โดยมีผู้เข้าร่วมแข่งขันของจีนและต่างชาติหลายพันคนในแต่ละครั้ง 

ใช่ว่าทุกคนจะเข้าร่วมแข่งขันได้ เพราะคณะกรรมการจัดการแข่งขันจะเปิดรับสมัคร และทดสอบความสามารถในทะเลสาบก่อน เพราะในการแข่งขันจะว่ายไปตามกระแสน้ำข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งเป็นระยะทางถึง 1-2 กิโลเมตร 

หลายคนทดสอบหลายครั้งแต่ยังไม่ผ่าน แต่มีคนเล่าให้ผมฟังว่า เด็กนักศึกษาไทยหลายคน ก็เคยผ่านเข้าไปร่วมแข่งขัน ผู้ชนะการแข่งขันจะได้รับเงินรางวัลราว 30,000 หยวน โดยการแข่งขันเมื่อปีที่ผ่านมามีระยะทาง 1,800 เมตร ผู้ชนะประเภทชายเดี่ยวใช้เวลาเพียง 12 นาทีเศษ ส่วนประเภทหญิงเดี่ยวก็ใช้เวลาราว 14 นาที  

กำลังสนุกเลย และยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมอยากพาไปรู้จักอู่ฮั่น แต่วันนี้พื้นที่ผมหมดแล้ว ไว้อ่านต่อตอนหน้าครับ ...