จีนทำอย่างไรเพื่อนำความกระชุ่มกระชวยกลับสู่พื้นที่ชนบท (2)

14 พ.ค. 2566 | 05:56 น.

จีนทำอย่างไรเพื่อนำความกระชุ่มกระชวยกลับสู่พื้นที่ชนบท (2) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3487

เราไปเจาะลึกกันต่อถึงโมเดลธุรกิจของโครงการ “อู๋วเจียงไจ้” กันครับ ...

อันที่จริง “อู๋วเจียงไจ้” ถือเป็นโครงการที่ 3 ของกลุ่มติงตู่ที่เข้าไปดำเนินการสนับสนุนนโยบายดังกล่าวของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โครงการนี้มุ่งเน้น “บริการทางสังคม” ที่บรรเทาความยากจนและสร้างความกระชุ่มกระชวย ให้กลับสู่พื้นที่ชนบทผ่านการมีส่วนร่วมด้านการท่องเที่ยว 

ภายหลังการลงนามความตกลงในโครงการเมื่อเดือนตุลาคม 2015 กลุ่มได้ออกแบบขั้นตอนการดำเนินโครงการออกเป็น 5 ระยะ ตั้งแต่ระยะเตรียมการ การออกแบบภาพรวม การวางแผนและการออกแบบ การก่อสร้าง และการจัดการระดับปฏิบัติการ 
ในระยะเตรียมการ

ผู้บริหารโครงการให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหมู่บ้านของเกษตรกร โดยนำเอาอาคารที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และโครงสร้างพื้นฐานที่เสื่อมโทรมมาปรับปรุงให้อยู่ในมาตรฐานที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ยังวางแผนการปรับผัง และโยกย้ายบ้านเรือนของผู้คนในหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดความสะดวก และสอดคล้องกับวิถีชีวิตท้องถิ่น และสภาพแวดล้อมที่รายรอบไปด้วยภูเขา   

เช่น การก่อสร้างบ้านเรือนในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นต่ำ เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจทำให้ไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกได้ หรือเกิดความไม่คุ้มค่าในการลงทุน 

ดังนั้น หมู่บ้านใหม่จึงออกแบบพื้นที่ 4,180 ตารางเมตรให้เป็นกลุ่มอพาร์ตเม้นต์เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยจำนวน 180 คน ซึ่งทั้งหมดได้ย้ายเข้าไปอยู่อาศัยมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว

ที่อยู่อาศัยเหล่านี้ติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่พร้อมสรรพ อาทิ เครื่องซักผ้า และแผงโซลาเซลล์ จนทำเอาหลายหมู่บ้านใกล้เคียงแอบอิจฉา

ผู้บริหารโครงการได้ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ประปา และโครงข่ายการสื่อสารไร้สายเต็มพื้นที่ รวมทั้งศูนย์ควบคุมเพลิง ซึ่งช่วยยกระดับมาตรฐานการครองชีพให้กับคนในหมู่บ้านทุกเพศ วัย และสาขาอาชีพ  

ขณะเดียวกัน ร้านค้าก็ถูกออกแบบ และก่อสร้างขึ้นใหม่ในพื้นที่สำคัญด้านนอกของสถานที่ท่องเที่ยวและใกล้กับลานจอดรถ โดยให้แต่ละครอบครัวมีหน้าร้านของตนเอง และจัดเส้นทางเดินเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับบรรยากาศในหมู่บ้านได้อย่างถ้วนทั่ว และจับจ่ายใช้สอยได้อย่างหลากหลาย เพื่อนำรายได้เข้าสู่หมู่บ้านอย่างกระจายตัวและมีเสถียรภาพ

ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่จอดรถ โครงข่ายกระแสไฟฟ้าแรงสูงและแรงต่ำ และห้องทำความร้อนส่วนกลาง ก็ถูกออกแบบอย่างเป็นสัดส่วน 

แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น ผู้บริหารโครงการต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย ในความพยายามที่จะก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าว ไล่ตั้งแต่รัฐบาลท้องถิ่นที่มองว่าหลายสิ่งเกินความจำเป็น อาทิ โรงบำบัดน้ำเสีย   

โครงการต้องอธิบายในรายละเอียดให้รัฐบาลท้องถิ่น เห็นภาพในอนาคต เมื่อนักท่องเที่ยวนอกพื้นที่เข้ามาใช้ชีวิตในหมู่บ้าน และปล่อยน้ำเสียจำนวนมากที่ระบบเดิมที่มีอยู่ไม่อาจรองรับได้ ซึ่งเปลี่ยนเสียง “คัดค้าน” เป็น “สนับสนุน” ได้ในทันที ทั้งที่รัฐบาลท้องถิ่นต้องเผชิญกับการขาดแคลนงบประมาณ 

บริการที่มีมาตรฐานที่ดี ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่โครงการให้ความสำคัญ เราจะไม่เห็นการโก่งราคาขายสินค้าและบริการ หรือ การให้บริการที่ขาดจริยธรรมในพื้นที่  

                    จีนทำอย่างไรเพื่อนำความกระชุ่มกระชวยกลับสู่พื้นที่ชนบท (2)

ในวันเสาร์อาทิตย์ วันหยุดยาว หรือ ช่วงที่หมู่บ้านจัดงานคาร์นิวัล โครงการก็จะกระตุ้นให้สต็อกสินค้าเพิ่มเติม และเชื้อเชิญให้คนในพื้นที่ออกมาทำงานล่วงเวลา เพื่อรักษามาตรฐานการให้บริการ และสร้างรายได้พิเศษไปพร้อมกัน

การดูแลสิ่งแวดล้อมและการรักษามาตรฐานด้านบริการดังกล่าวนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ไทยก็สามารถ “เรียนรู้” และ “รับเอา” มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาพื้นที่ชนบทของไทยได้เช่นกัน  

แม้ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดเป็นรูปธรรม ก็เต็มไปด้วยความท้าทาย ทำอย่างไรผู้คนชุมชนน้อยใหญ่ในบ้านเรา จะเสริมสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องในด้านนี้อย่างต่อเนื่องและขยายต่อในวงกว้าง 

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ภาพรวมของโครงการได้ถูกออกแบบบนพื้นฐานของแนวคิด “การอยู่ร่วมกัน” (Symbiosis) ที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อมเข้ากับผู้คนอย่างลงตัว  
แนวคิดนี้มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสภาพแวดล้อมของหมู่บ้านให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

โดยก่อนเริ่มดำเนินงาน ผู้บริหารโครงการได้จัดประชุมระดมสมองผู้คนในหมู่บ้าน ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี เพื่อหารือเกี่ยวกับโมเดลปฏิบัติการสหกรณ์ ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจาก 4 ส่วน อันได้แก่ รัฐบาล บริษัท สหกรณ์ และ    เกษตรกร 

ผู้บริหารโครงการเชื่อว่า การสร้างความกระชุ่มกระชวยในพื้นที่ชนบทเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ในการปรับรูปทรงของการจัดการชนบทอย่างรอบด้าน โครงสร้างรายได้ และการปลูกฝังนิสัยการใช้ชีวิตที่ศิวิไลซ์บนพื้นฐานของ “การเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” 

โครงการนี้จึงได้นำเสนอรูปแบบการจัดตั้ง “สหกรณ์เศรษฐกิจการท่องเที่ยว” เพื่อช่วยบริหารจัดการรายได้ของร้านค้า ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของผู้คนในหมู่บ้าน การลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่น และนักลงทุนเอกชนที่เข้ามาช่วยเหลือคนที่ยากจน  

กฎระเบียบของสหกรณ์เศรษฐกิจมีความละเอียดและพิถีพิถัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งเป็นองค์กรปกครองตนเองของหมู่บ้านที่อยู่ภายใต้การนำของเครือข่ายสาขาและสหกรณ์เศรษฐกิจ 

สมาชิกของหมู่บ้านสามารถสื่อสารผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นได้ตลอดในทุกประเด็น อาทิ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างเพื่อการท่องเที่ยว และเงินปันผลประจำปี

แล้วสภาพของหมู่บ้านอู๋วเจียง เป็นอย่างไรในปัจจุบัน เราไปคุยกันต่อในตอนหน้าครับ ...