รถยนต์ไร้คนขับในจีน มาเร็วกว่าที่คิด (จบ) 

16 เม.ย. 2566 | 06:44 น.

รถยนต์ไร้คนขับในจีน มาเร็วกว่าที่คิด (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3879

อะไรเป็นความท้าทายใหญ่ที่อุตสาหกรรม AVs ของจีนต้องเผชิญ และภาพของ AVs ในอนาคตจะเป็นเช่นไร...

ในการพัฒนาอุตสาหกรรม AVs จีนยังคงเลือกใช้แนวทาง “การเดินข้ามลำธารโดยใช้เท้าสัมผัสหิน” โดยดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ผ่อนคลายเงื่อนไข ขยายพื้นที่สู่วงกว้างโดยลำดับ 

 

โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ลงทุนในทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง 

ไล่ตั้งแต่การปรับปรุงด้าน “ซอฟท์แวร์” แก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคและออกมาตรการส่งเสริมเพื่อดึงดูดการลงทุนของกิจการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยรัฐบาลกรุงปักกิ่งได้ออกกฎหมายรับรอง AVs เป็นแห่งแรก นับแต่ปี 2017 หลังจากนั้น รัฐบาลท้องถิ่นของหลายมณฑล/มหานครก็เจริญรอยตาม 

จีนยังพยายามลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น จีนพัฒนาจำนวนบุคลากรด้านเอไอจาก “ภายใน” เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา 

แต่ด้วยความไม่พร้อมของตลาดแรงงานในประเทศ เมื่อเทียบกับของต่างประเทศ ทำให้ราว 70% ของบุคลากรด้านเอไอเหล่านั้นกลับเลือกไป “ตกทอง” ทำงานในต่างประเทศ ทำให้กิจการ AVs ของจีนต้องแย่งชิงตัวบุคลากรกันอย่างเข้มข้น

ในเวลาต่อมา จีนก็หันมาให้ความสำคัญกับการดึงบุคลากรเหล่านั้นกลับมาทำงานในจีน และตามด้วยการสร้างระบบที่ช่วยดึงดูดผู้เชี่ยวชาญระดับสูงต่างชาติเข้ามาทำงานในจีนอีกด้วย

ขณะเดียวกัน จีนก็ยังพัฒนาระบบนิเวศด้าน “ฮาร์ดแวร์” อย่างต่อเนื่อง อาทิ การยกระดับสายการผลิต เครื่องมืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และระบบสนับสนุนที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ
และการพัฒนาโครงข่ายสื่อสารระบบ 5G ศูนย์ข้อมูล รถยนต์ไฟฟ้า (EVs) และ AVs รวมทั้งแท่นชาร์ตไฟฟ้า กระจายตัวในวงกว้างจากซีกตะวันออกสู่พื้นที่ตอนกลางและซีกตะวันตก และจากในเมืองสู่ชนบท

ทั้งนี้ จีนตั้งเป้าจะติดตั้งแท่นชาร์ตเป็นมากกว่า 36,000 จุดทั่วจีนภายในปี 2025 และจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปี 2030

ภาพยิ่งชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงวิกฤติโควิดเมื่อจีนนำเสนอ “ข้อริเริ่มโครงสร้างพื้นฐานใหม่” (New Infrastructure Initiative) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพลังงานใหม่และรถยนต์อัจฉริยะ ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดสรรเงินอุดหนุน 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในระยะเวลา 5 ปีของแคมเปญ 

แม้ว่าเทคโนโลยี AVs ของจีนเริ่มเสถียรมาระยะหนึ่งแล้ว แต่จีนยังคงเลือกให้เวลากับการทดสอบทดลองในพื้นที่ที่จำกัด และขยายวงโดยลำดับ แต่ในระยะแรกก็ยังไม่อนุญาตให้ใช้กับมนุษย์ เพื่อมิให้อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นส่งผลเสียต่อการพัฒนาในภาพรวม 

แต่ผู้ประกอบการจีน “คิดเก่ง ทำเก่ง” หาทางทำเงินจากเงื่อนไขข้อจำกัดที่มีอยู่ได้เสมอ เราจึงเห็นรถเก็บขยะ รถทำความสะอาดถนน รถขนพัสดุภัณฑ์ และรถจำหน่ายสินค้า “ไร้คนขับ” ออกมาให้บริการในจีนในช่วงแรก

แต่ผ่านไปเพียงไม่กี่ปี รัฐบาลจีนก็ได้ให้เริ่มทดลองใช้ “แท็กซี่หุ่นยนต์” ในระดับ L4 ในหลายหัวเมืองแล้วในปัจจุบัน 

ด้วยนโยบายที่ต่อเนื่องและชัดเจนของรัฐบาลจีน และความสามารถของกิจการท้องถิ่น ทำให้ผมเชื่อมั่นว่า กิจการ AVs ของจีนที่ผมหยิบยกมาพูดคุยกันในช่วงที่ผ่านมา จะเป็นที่รู้จักมักคุ้นของเรามากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย และคาดว่าจะมีสตาร์ทอัพรายใหม่หลายรายเข้ามามีส่วนร่วมในวงการ AVs ในอนาคต

นักวิเคราะห์สำนักหนึ่งประเมินว่า ธุรกิจบริการแท็กซี่ออนไลน์ในจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็วในแต่ละปี จะทำให้มีมูลค่าตลาดแตะ 2.25 ล้านล้านหยวนในปี 2030 และคาดว่าบริการรถแท๊กซี่หุ่นยนต์จะมีสัดส่วนถึง 60% ของธุรกิจบริการแท็กซี่ออนไลน์โดยรวม

แต่ตัวแปรสำคัญที่ผมประเมินว่า จะเป็นอุปสรรคทำให้ AVs ของจีนไม่อาจพัฒนารวดเร็วอย่างที่ควรจะเป็นในอนาคต กลับไม่ใช่เพราะ “ปัจจัยด้านเทคโนโลยี” แต่เป็น “ปัจจัยทางการเมือง” 

ช่วงปี 2022-2023 อาจถือเป็น “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญของอุตสาหกรรม AVs จีนเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบและเปิดให้บริการ “แท็กซี่ไร้คนขับ” และออกมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรม AVs ชุดใหม่ รวมทั้งยังนำเอา AVs มาทดลองใช้ในงานการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งเมื่อปีก่อนแล้ว  

จีนยังน่าจะนำ AVs สารพัดรูปแบบมาโชว์ตัวในระหว่างการเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่หังโจว ในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 อย่างแน่นอน 

เมื่อเร็วๆ นี้ จีนก็ยังสร้างความตื่นตะลึงครั้งใหม่ด้วยการประกาศจะเริ่มทดลองใช้ระบบ 6G ในปี 2025 และวางแผนจะเปิดใช้ในเชิงพาณิชย์ภายในปี 2030 ระบบการประมวลผลทรงพลังมากขึ้น จะสร้างประโยชน์แก่อุตสาหกรรม AVs ของจีนในวงกว้างได้โดยไม่ต้องกังวลใจอีกต่อไปว่า การประมวลผลข้อมูลของ AVs ในจีนจะไม่ทันการณ์อีกต่อไป

                         รถยนต์ไร้คนขับในจีน มาเร็วกว่าที่คิด (จบ) 

แต่ในทางกลับกัน “สงครามเทคโนโลยี” ที่สหรัฐฯ ใช้ “ตีกรอบ” การพัฒนาด้านเทคโนโลยีของจีน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ส่อเค้าว่าจะขยายวงยิ่งขึ้นในสมัยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ซึ่งการบอยคอต  AVs อาจเป็นคิวถัดไป 

การลงนามในกฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์ (Chips and Science Act) ของโจ ไบเดน เมื่อกลางปีก่อน เป็นการใช้งบอุดหนุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษีมูลค่าถึง 54,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อดึงดูดผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำ ให้เข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ เป็นอีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด

สหรัฐฯ และพันธมิตรยังอาจพยายาม “บั่นทอน” ห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรม AVs โดย “ชะลอ” หรือ “ห้าม” การส่งมอบชิ้นส่วนไฮเทคที่เกี่ยวข้อง อาทิ ชิปคุณภาพสูง LiDAR และอุปกรณ์อื่นไปยังจีน หรือแม้กระทั่ง “ยกเลิก” มิให้ระบบ AVs ของจีน ไม่ว่าจะเป็น AutoX, NIO, WeRide, Pony.ai, Inceptio และรายอื่น ทดสอบหรือให้บริการในสหรัฐฯ

เหล่านี้จะไม่เพียงส่งผลเสียต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม AVs โดยรวมแต่ยังจะทำให้กิจการ AVs ของจีนต้อง “ฝันสลาย” ไปไม่มากก็น้อย 

มองการพัฒนา AVs ของจีนไปข้างหน้า เราคงมีโอกาสใช้บริการแท๊กซี่และรถบัสไร้คนขับ อย่างแพร่หลายในหลายร้อยเมืองของจีนในอนาคตอันใกล้

แต่เส้นทางนี้ก็ใช่ว่าจะราบเรียบ ท้องฟ้ายังไม่โปร่งใส และอากาศยังอาจแปรปรวนเป็นระยะ เราคงต้องติดตามเรื่องนี้กันอย่างใกล้ชิดอยู่ต่อไปว่า จีนจะบรรลุการใช้ AVs ในระดับ L5 ได้หรือไม่ และเมื่อใด...