เหลียวหลัง-มองข้างหน้า ศึก“รัสเซีย-ยูเครน” ต้นทุนที่ไทย-โลกต้องจ่าย

26 ก.พ. 2566 | 01:16 น.

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 4.50 a.m. ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ประกาศเปิด “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในยูเครน หลังจากนั้น 1 ชั่วโมงต่อมา การโจมตีทางทหารรัสเซียก็เกิดขึ้นในเมืองสำคัญของยูเครนรวมทั้งกรุงเคียฟ

เหลียวหลัง-มองข้างหน้า ศึก“รัสเซีย-ยูเครน” ต้นทุนที่ไทย-โลกต้องจ่าย

ตลอดทั้งปี 2565 สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบทั่วโลกในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างประเทศ  จนถึงขณะนี้สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ยังไร้แสงสว่างปลายอุโมงค์ ในทางกลับกันสงครามยิ่งมีความเข้มข้นของการสู้รบอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการสนับสนุนอาวุธจากพันธมิตรให้กับยูเครน การเดินทางไปพบผู้นำและสภาผู้แทนราษฎรของประเทศต่างๆ ของประธานาธิบดียูเครน “วอลอดือมือร์  แซแลนสกี Volodymyr Zelenskyy” และการประกาศพร้อมร่วมรบกับรัสเซียของผู้นำเบรารุส ขณะที่ประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐฯ ยืนยันชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะสนับสนุนยูเครนเต็มที่

หากสงครามยังดำเนินต่อไป ภาคอุตสาหกรรมไทยก็ยังคงได้รับผลกระทบเหมือนปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะต้นทุนการผลิต บทความนี้จึงประเมินผลสงครามรัสเซีย-ยูเครนต่อเศรษฐกิจโลก และต้นทุนของอุตสาหกรรมไทยที่เพิ่มขึ้นจากสงคราม จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และราคาวัตถุดิบทางการเกษตรที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ

  • ประเมินผลกระทบ 1 ปีที่ผ่านมา

ด้านเศรษฐกิจ : เสียหาย 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เศรษฐกิจโลกปี 2565 ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนอย่างหนัก  GDP โลกลดลงจาก 6.2% เหลือ 3.2% ทำให้เศรษฐกิจทุกประเทศทั่วโลกชะลอตัวลง มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจโลก 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในประเทศ ในขณะที่รายได้ลดลง แต่ราคาสินค้ากลับเพิ่มสูงขึ้น

เงินเฟ้อในยุโรป สหรัฐฯ และทั่วโลกปรับสูงขึ้น อันเนื่องมาจาก 3 สาเหตุคือ การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันโลก ราคาสินค้าธัญพืชปรับสูงขึ้น ทั้งถั่วเหลือง ข้าวโพด และเรฟซิด เป็นต้น รวมไปถึงราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นหลายเท่าตัวเช่นกัน  นอกจากนี้ ประเทศต่าง ๆ หันมาขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อภายในประเทศ นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลทำให้ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ทยอยปรับดอกเบี้ยขึ้นตามส่งผลต่อค่าเงินของประเทศต่าง ๆ อ่อนค่าลงไปด้วย ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตรและราคาปุ๋ย ยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อในปี 2566 อยู่ในระดับสูง (แม้จะปรับลดลงบ้างแล้วก็ตาม) ทำให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกปรับสูงขึ้น

เหลียวหลัง-มองข้างหน้า ศึก“รัสเซีย-ยูเครน” ต้นทุนที่ไทย-โลกต้องจ่าย

ด้านสังคม : ภาระที่ไม่ได้สร้าง

คนยูเครนต้องอพยพเข้าไปในในยุโรปเป็นประวัติศาสตร์ถึง 8 ล้านคน ประเทศที่รับภาระมากสุดในปี 2565 คืออพยพเข้าโปแลนด์ จำนวน 1.5 ล้านคน เข้าเยอรมัน 1 ล้านคน เป็นสองประเทศในยุโรปที่มีคนยูเครนอพยพเข้าไปมากสุด ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของยุโรป เพราะนอกจากจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติพลังงานและเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแล้ว ยังต้องรับภาระค่าใช้จ่ายของผู้คนอยพยอีกด้วย นอกจากนี้ประชากรโลกขาดแคลนอาหารมากถึง 40 ล้านคน ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

การเมืองระหว่างประเทศ : บทบาทดอลลาร์ลดลง

ขั้วการเมืองและความขัดแย้งการเมืองระหว่างประเทศมีการแบ่งฝ่ายชัดเจน สหรัฐฯ ยุโรป และนาโต้ ที่สนับสนุนยูเครน กับอีกฝ่ายที่สนับสนุนรัสเซียคือ จีน และประเทศในเอเชียบางประเทศ กลายเป็นรูปแบบ “ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics Tension)" ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั่วโลก และการซื้อสินค้า ซึ่งไม่ชัดเฉพาะกรณีของรัสเซีย-ยูเครนเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายกรณีทั่วโลกที่จะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจ สำหรับกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น การถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกต่อรัสเซียทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเลือกใช้ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศจากเดิมที่ใช้ระบบ SWIFT (ที่ใช้ดอลลาร์เป็นหลักมากกว่า 50%) มาเป็นระบบชำระเงินของจีน CIPS หรือระบบ SPFS รัสเซีย  หากต้องการที่ค้าขายกับ จีน และรัสเซีย ซึ่งจะทำให้ความสำคัญของดอลลาร์ในการซื้อขายสินค้าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เมื่อครั้งไปเยือนซาอุดิอาระเบีย ก็เชิญชวนให้ซื้อสินค้าจีน และน้ำมันด้วยเงินหยวน

ผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทย

ในการวิเคราะห์ผลกระทบต่อต้นทุนภาคอุตสาหกรรมในระยะ 1 ปีของสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น จะเป็นการเปรียบเทียบต้นทุนภาคอุตสาหกรรมไทยปี 2564 (ก่อนสงคราม) กับปี 2565 (หลังสงคราม) โดยดูต้นทุนด้านสินค้าเกษตร น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ค่าขนส่ง ค่าแรง และดอกเบี้ย เป็นต้น โดยใช้การโครงสร้างต้นทุนจากตาราง IO ปี 2558 แต่ปรับโครงสร้างต้นทุนเป็นของปี 2564 (Readjusted IO Model)

พบว่าต้นทุนภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น   543,827 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของมูลค่าอุตสาหกรรมทั้งหมด กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงคือ รถยนต์ เครื่องจักร อาหารแปรรูป และเคมีภัณฑ์  (ต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท) ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรองลงคือ สีข้าว อาหารสัตว์ เสื้อผ้า ยาง และพลาสติก (ต้นทุนเพิ่ม 3- 4 หมื่นล้านบาท)

เหลียวหลัง-มองข้างหน้า ศึก“รัสเซีย-ยูเครน” ต้นทุนที่ไทย-โลกต้องจ่าย

สรุป : ผลสงครามรัสเซีย-ยูเครนหากยังดำเนินต่อไปในปี 2566

 จะส่งผลกระทบเศรษฐกิจด้านลบต่อต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจไทย ซึ่งผลกระทบต่อต้นทุนในปี 2566 คาดว่าไม่มีความแตกต่างจากปี 2565 ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาจากทั้งราคาน้ำมัน ราคาธัญพืชที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ และราคาปุ๋ย สิ่งที่หน่วยงานไทยต้องทำคือ การหาแหล่งพลังานราคาถูก และพลังงานทดแทน ธัญพืชและปุ๋ยที่ต้องนำเข้าต้องเร่งผลิตภายในประเทศโดยด่วน นอกจากนี้ภาคอุตสาหกรรมต้องหาหุ้นส่วนของห่วงโซ่อุตสาหกรรมเพื่อหาวิธีลดต้นทุนร่วมกัน (Cost Sharing)