จีนเร่งยกระดับ "อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์อัจฉริยะ" หนานคางโมเดล

11 พ.ค. 2565 | 23:34 น.

เขตหนานคาง (Nankang) ในท้องถิ่นมณฑลเจียงซี (Jiangxi) กำลังเร่งเครื่องอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์อัจฉริยะ ให้เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นตัวนำ

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต

โดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ 

- - - - - - - -

เขตหนานคาง เมืองก้านโจว มณฑลเจียงซี ประเทศจีน กำลังเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์โดยใช้นวัตกรรมและ “เทคโนโลยีอัจริยะ” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งมีการนำมาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้

 

1) การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ เช่น การตั้งศูนย์ออกแบบเฟอร์นิเจอร์อัจฉริยะ ซึ่งได้ดึงดูดสถาบันการออกแบบที่มีชื่อเสียงกว่า 350 แห่ง และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์อีกกว่า 1,200 คนเข้าร่วม เพื่อออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างฐานการผลิตชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแข็ง และศูนย์เตรียมวัสดุและพ่นสีด้วย

อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของเขตหนานคาง มีมูลค่าการผลิต 2.27 แสนล้านหยวน ซึ่งเพิ่มขึ้น 13.5%

(2) การสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยการนำ Internet of Things (IoT) มาประกอบการทำแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับห่วงโซ่อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ทั้งระบบ ตั้งแต่การซื้อขาย การออกแบบ จัดซื้อวัสดุ แปรรูปวัสดุ การผลิตและประกอบ การขัดและพ่นสี การขนส่งและการกระจายสินค้า ซึ่งได้มีการตั้งศูนย์เครือข่ายอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์อัจริยะแห่งแรกของประเทศ

(3) การสร้างระบบนิเวศดิจิทัลของห่วงโซ่อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และ เพิ่มประสิทธิภาพการบริการภาครัฐดิจิทัล เช่น การสร้างศูนย์ข้อมูล Big Data เชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแข็งทั้งระบบ และพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับแนะนําผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์และจับคู่ทางธุรกิจ เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดี โดยมุ่งปรับปรุงประสิทธิภาพการตรวจสอบและอนุมัติโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของหนานคางให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น

 

ในปี 2564 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของเขตหนานคาง เมืองก้านโจว มณฑลเจียงซี มีมูลค่าการผลิต 2.27 แสนล้านหยวน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน และติดอันดับรายชื่อฐานสาธิต e-commerce ที่มีมูลค่าสูงที่สุด 10 อันดับแรกของจีน ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายเฟอร์นิเจอร์ไม้ผ่านระบบ e-commerce กว่า 7 หมื่นล้านหยวนอีกด้วย 

อุตสาหกรรมควรเร่งปรับตัวโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในทุก ๆ องค์ประกอบของการดำเนินธุรกิจ

ปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงกระแสธุรกิจในต่างประเทศที่เร่งปรับตัวโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในทุก ๆ องค์ประกอบของการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้มีความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาดโลก ที่ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ขณะที่ตลาด e-commerce เติบโตอย่างรวดเร็ว นับเป็นสิ่งสำคัญที่ภาคเอกชนไทยควรรับทราบเพื่อให้สามารถปรับตัวทางธุรกิจได้เท่าทัน สามารถเชื่อมโยงกับตลาดโลก สร้างจุดเด่นให้กับตัวเองและสามารถแข่งขันต่อไปได้