โควิด-เศรษฐกิจซบ ไม่สะเทือน TPLAS โชว์แผนรุก ดันยอดโตต่อเนื่อง

21 เม.ย. 2565 | 02:03 น.

ในสถานการณ์ที่ทั่วโลกต่างเผชิญกับวิกฤติโควิดบวกกับเศรษฐกิจโลกซบเซา หลายอุตสาหกรรมต่างดิ้นรนทุกทางในการรักษารายได้ เพื่อประคองตัวให้ข้ามผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ ขณะที่บางธุรกิจถูกจับตาว่าเป็นดาวเด่นในยามวิกฤติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์

โควิด-เศรษฐกิจซบ ไม่สะเทือน TPLAS โชว์แผนรุก ดันยอดโตต่อเนื่อง

 

นายอภิรัตน์  ธีระรุจินนท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) จำกัด (มหาชน) หรือ TPLAS ที่ถูกจับตามองเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงในเจเนอเรชั่นที่ 2 ที่สานต่อธุรกิจ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงภารกิจผู้นำด้านผลิต และจัดจำหน่ายถุงพลาสติกบรรจุอาหาร และถุงพลาสติกหูหิ้ว ภายใต้ตราสินค้า “หมากรุก” ฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร ภายใต้ตราสินค้า “Vow wrap” และบรรจุภัณฑ์กระดาษ BEATBOX กับปัจจัยบวก-ปัจจัยลบที่ต้องเผชิญ และการรับมือในปีนี้

 

อภิรัตน์  ธีระรุจินนท์

 

  • ตั้งเป้าเติบโตน่าพอใจ

นายอภิรัตน์  กล่าวว่า การทำธุรกิจจะต้องวางเป้าหมายการเติบโต โดยปี 2565 หลัก ๆ จะเน้นการเพิ่มยอดขายจากสินค้ากลุ่มถุงพลาสติก (หมากรุก) เป็นอันดับแรก เนื่องจากมีความต้องการลูกค้ารองรับอยู่แล้ว และเน้นการพัฒนาสินค้าบรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับบรรจุอาหารเพื่อเตรียมตัวสำหรับตลาดที่กำลังเติบโต โดยบริษัทตั้งเป้าไว้ว่ากลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับบรรจุอาหาร (BEATBOX) จะมีสัดส่วนประมาณ 5-10% ของรายได้รวม โดยในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนรายได้ที่มาจากกลุ่มสินค้าถุงพลาสติก แบรนด์หมากรุก & หมากฮอส สัดส่วน 82% , ฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร แบรนด์ Vow Wrap สัดส่วน 10% และบรรจุภัณฑ์กระดาษแบรนด์ BEATBOX สัดส่วน 8% 

 

ทั้งนี้ภายหลังจากเปิดตัวสินค้ากลุ่มบรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับบรรจุอาหาร ภายใต้ตราสินค้า “BEATBOX” ออกสู่ตลาดไปเมื่อปีก่อน ได้รับผลตอบรับที่ค่อนข้างดี สินค้ามีการใช้งานอย่างแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น จากเดิม 4-5 ปีก่อนจะเป็นสินค้าที่ใช้งานในกลุ่มลูกค้าเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งหลังจากบริษัทเปิดตัวสินค้ากลุ่มดังกล่าวออกสู่ตลาด พบว่ามีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง มีกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีอัตราการซื้อค่อนข้างน่าพอใจ

 

 

โควิด-เศรษฐกิจซบ ไม่สะเทือน TPLAS โชว์แผนรุก ดันยอดโตต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดสินค้ากลุ่มบรรจุภัณฑ์กระดาษบรรจุอาหาร ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างต่อเนื่อง เพราะมีสินค้าทดแทนในตลาดค่อนข้างมาก ซึ่งพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้ากลุ่มนี้ของลูกค้า จะพิจารณาจากความคุ้มค่ามากที่สุด ทำให้ตลาดมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดีในภาพรวมของการเปิดตัวสินค้ากลุ่มบรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับบรรจุอาหาร พบกว่ามีการตอบรับที่ดี ตลาดอยู่ในช่วงกำลังเติบโต และมีอัตราการซื้อซ้ำของลูกค้าเป็นที่น่าพอใจ  โดยกล่องกระดาษบรรจุอาหารมีกำลังผลิต 31 ล้านใบต่อปี และชามกระดาษบรรจุอาหาร มีกำลังผลิต 10 ล้านใบต่อปี

 

“บริษัทตั้งเป้าว่าในอนาคตอยากให้สินค้ากลุ่มดังกล่าวเป็น 1 ในกลุ่มสินค้าหลักของบริษัท โดยตั้งเป้าให้มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 20% - 30% เนื่องจากตลาดสินค้าอยู่ในช่วงกำลังเติบโต จากเดิมที่มีการใช้งานในวงจำกัด ปัจจุบันเริ่มมีการใช้งานในเชิงพาณิชย์ และใช้งานทั่วไปอย่างแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น”

 

  • ต้นทุนผันผวนแรง

รองกรรมการผู้จัดการ TPLAS กล่าวถึงการบริหารวัตถุดิบ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตว่า เม็ดพลาสติกและกระดาษเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคามีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของต้นทุนเม็ดพลาสติกมีสินค้าที่เป็นผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันเป็นวัตถุดิบตั้งต้น ราคาเม็ดพลาสติกจึงมีทิศทางการเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบ

 

ปัจจุบันราคาน้ำมันมีความผันผวนค่อนข้างรุนแรงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลต้นทุนเม็ดพลาสติกในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างรุนแรง เช่นเดียวกันกับต้นทุนบรรจุภัณฑ์กระดาษที่ได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย อาทิ เช่น การตึงตัวของห่วงโซ่อุปทานของโลก ราคาน้ำมันที่ผันผวนมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนบรรจุภัณฑ์กระดาษปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งหมดถือเป็นความท้าทายที่ต้องรับมือกับการบริหารจัดการความเสี่ยงนี้อย่างรอบคอบ

 

  • รุกลงทุนต่อเนื่อง

สำหรับความเคลื่อนไหวทางธุรกิจปี 2565 บริษัทมีแผนการลงทุนพัฒนาบรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับบรรจุอาหาร โดยเพิ่มขนาดสินค้า ลวดลายสินค้า และเพิ่มประเภทสินค้า เช่น ถาด จาน ถ้วย เป็นต้น โดยแผนลงทุนดังกล่าว อาจปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงต้องดูทิศทางการแข่งขันด้วย  แต่ขณะนี้มองว่าภาพรวมบรรจุภัณฑ์อาหารมีแนวโน้มเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องจากหลายปัจจัย เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ตลาด Delivery มีการเติบโตขึ้น ซึ่งบรรจุภัณฑ์อาหารเป็นหนึ่งในสินค้าจำเป็นสำหรับการบรรจุและจัดส่งอาหาร จึงเติบโตตามไปด้วย

 

อีกปัจจัยคือ การพัฒนาสินค้าบรรจุภัณฑ์อาหารในรูปแบบใหม่ในตลาดมีเพิ่มมากขึ้น มีผู้เล่นใหม่ๆ ในตลาดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าสินค้า ต่างพยายามสรรหาสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากขึ้น หากตลาดมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีการแข่งขันอย่างเสรีเพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้ตลาดโดยรวมสามารถเติบโตได้มากยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้มีปัจจัยด้านกำลังซื้อของผู้บริโภค ทั้งจากภายในและนอกประเทศ โดยหากประเทศ ไทยสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนให้ตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารมีการแข่งขันและสามารถเติบโตขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง 

 

นายอภิรัตน์ กล่าวถึงกลุ่มลูกค้าของบริษัทว่า ปัจจุบันแบ่งเป็นกลุ่ม Traditional Trade และ กลุ่ม Modern Trade โดยกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทจะเป็นกลุ่ม Traditional Trade ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำอาชีพเป็นพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด และ ร้านค้า Street Food รวมไปถึงลูกค้า End User ที่เป็นกลุ่มแม่บ้าน และกลุ่ม Home Cooking อีกด้วย ในส่วนของกลุ่มลูกค้า Modern Trade จะเป็นกลุ่มที่เป็นโรงงาน Chain Restaurant ห้างร้านท้องถิ่น และร้านสะดวกซื้อท้องถิ่น เป็นต้น

 

  • มั่นใจยอดขายโตสวน ศก.

นายอภิรัตน์ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงที่มีความผันผวนค่อนข้างมากจากหลายปัจจัย เช่น การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น เป็นต้น โดยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2565 อาจเป็นไปได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านเศรษฐกิจมีผลกับการขายของบริษัทเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากสินค้าของบริษัท เป็นสินค้าจำเป็นต้องใช้งานในชีวิตประจำวัน ดังนั้นถึงแม้เศรษฐกิจจะเกิดความผันผวนบ้าง แต่การขายของบริษัทยังคงสามารถดำเนินการและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ในช่วงเผชิญวิกฤติโควิดไม่ได้ส่งผลกระทบกับบริษัทมากนัก หากพิจารณาเฉพาะในด้านรายได้ของบริษัท วิกฤติโควิดมีผลทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ในมุมเชิงบวก โควิดส่งผลให้ผู้บริโภคปรับปรุงพฤติกรรมการซื้อ-ขาย และ พฤติกรรมการบริโภค เช่น การปรับตัวใช้บริการ Delivery มากขึ้น ทำให้ Demand ของการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารเพิ่มมากขึ้น  ส่วนในด้านลบธุรกิจได้รับผลกระทบบ้าง รายได้ลดลงคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5% ของรายได้รวมทั้งปี ถือเป็นสัดส่วนที่น้อย

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3776 วันที่ 21 – 23 เมษายน 2565