ประชาชนคาใจ-รัฐเอางัย! ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’ จ่ายสินบน

15 ธ.ค. 2563 | 11:55 น.

ประชาชนคาใจ-รัฐเอางัย! ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’ จ่ายสินบน : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3636 ระหว่างวันที่ 17 -19 ธ.ค.2563 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมกำลังตั้งคำถามดังๆ ว่า “นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษัทที่คนในครอบครัวตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจถือหุ้นแบบ “ยกครัว” จะมีความผิดฐานจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่
 

ทำไมเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งตำรวจกองปราบฯ สำนักงานอัยการสูงสุด จึงไม่มีการฟ้องร้อง “ผู้จ่ายสินบน” เหมือนเช่นคดีทั่วไป
 

ทำไมเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นต้นธารแห่งกระบวนการยุติธรรม จึงต้องแยกสำนวนฟ้องในคดีนี้ออกไปต่างหาก
 

และมาตรฐานการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานอัยการสูงสุด ในการสั่งฟ้องคดี เป็นเช่นไร
 

เพราะคำตัดสินของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่พิพากษาสั่งลงโทษจำคุก นายประสิทธิ อภัยพลชาญ อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และ นายสุรกิจ ตั้งวิทูวนิช ผู้ประสานงาน จำเลยที่ 1-2 ฐานคดีปลอมเอกสารสำนักงานทรัพย์สินฯ ไปอ้างแก่ นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัดว่า มีสิทธิเช่าที่ดินองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม)

 

จำเลยทั้ง 2 รายอ้างว่าสามารถดำเนินการให้ บริษัท เรียลแอสเสทฯ ได้ประโยชน์ในการเช่าที่ดิน โดยปรากฎว่า นายสกุลธร มีสัญญาว่าจะจ่ายเงินค่าตอบแทนแก่จำเลย 500 ล้านบาท โดยในเบื้องต้นมีการจ่ายเงินไปแล้ว 3 งวด รวม 20 ล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวกให้บริษัท เรียลแอสเตทฯ
 

คำพิพากษาระบุชัดว่า เงินที่จ่ายนั้นเพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยทั้ง 2 จะร่วมกันไปดำเนินการติดต่อประสานงาน และนำเงินส่วนหนึ่งไปมอบให้รอง ผอ.สำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าพนักงานของรัฐตามกฎหมาย โดยวิธีอันทุจริตและผิดกฎหมาย เพื่อจูงใจรอง ผอ.สำนักทรัพย์สินฯให้กระทำการในหน้าที่ด้วยการจัดสรรที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินฯ ให้กับบริษัท เรียลแอสเสทฯ ได้สิทธิการเช่าที่ดินระยะยาว โดยไม่ต้องผ่านการประมูลแข่งขันตามขั้นตอนปกติของการขอเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ อันเป็นคุณแก่บริษัท เรียลแอสเตทฯ
 

ศาลจึงพิพากษา จำคุกจำเลย 2 คน กระทงละ 2 ปื รวมจำคุกคนละ 6 ปื จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 3 ปี
 

แต่จนบัดนี้ ยังไม่มีความกระจ่างชัดในเรื่อง “การเอาผิดกับคนจ่ายสินบน” แต่อย่างใด
 

มีแต่คำชี้แจงจากกองปราบฯ ว่ากำลังตั้งเรื่องเอาผิด นายสกุลธร ในอีกสำนวนหนึ่ง
 

คำถามคือถ้าเรื่องนี้ไม่แดงออกมา จะมีการตั้งเรื่องฟ้องร้อง นายสกุลธรหรือไม่ ทำไมเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงหละหลวมในทางคดีแบบนี้มากมายขนาดนี้
 

ก่อนหน้านี้ ผมจำได้ว่ารัฐบาลเคยเสนอให้แก้ไขกฎหมายโดยผ่อนปรนโทษแก่ผู้ให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยยกเว้นโทษอาญาแต่ให้คงโทษปรับขั้นสูงและทำทัณฑ์บนไว้ แต่ปรากฎว่าทางภาคีเครืองข่ายองค์การต่อต้านการคอรัปชั่นเคยคัดค้านและทำข้อเสนอไว้หลายประเด็นอาทิเช่น”
 

1. ผู้ให้และผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ริเริ่ม สมยอมหรือจำยอม ย่อมถือว่ามีความผิดร่วมกัน ถ้าจะมีการให้ได้รับสิทธิ์ การกันตัวเป็นพยาน ก็ต้องให้สิทธิ์ทั้งผู้รับและผู้ให้ ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อสร้างความยำเกรงต่อการจำคุกทั้งสองฝ่าย และเมื่อกลางปี พ.ศ. 2558 ได้มีการแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. เพื่อเพิ่มโทษเอาผิดคนให้สินบนเท่ากับคนรับ รวมทั้งให้เอาผิดกับนิติบุคคลและกรรมการด้วย
 

2. การลงโทษทางอาญากับผู้ให้สินบนจะส่งเสริมให้กระบวนการสร้างธรรมาภิบาลของภาคเอกชนเข็มแข็งขึ้น
 

3.การลงโทษเอกชน โดยใช้วิธีการปรับอย่างเดียวนั้น ในประเทศไทยเรามีใช้อยู่แล้ว เช่น กรณีของ ศุลกากร และ กลต. แต่เป็นการใช้แบบมีเงื่อนไข และอาจทำให้เอกชนประเมินว่า “คุ้มค่า” ที่จะเสี่ยงในการจ่ายสินบน
 

ทำไมเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่คนในประเทศให้ความสนใจ ไม่ใช่เพียงเพราะสัตยาบันของประเทศไทยที่เป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention against Corruption: UNCAC) และมีการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหลายอย่างเพื่อป้องกันปราบปราบการทุจริตคอรัปชั่นที่เป็นมะเร็งร้ายให้หายไปจากสังคม

ประเทศไทยมีกฎหมายมาตรา 123/2 (มาตรา 149 ป อาญา) ที่กำหนดไว้ว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เรียก รับ หรือยอมจะรับ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้น จะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ห้าปีถึง ยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสน บาท หรือประหารชีวิต”
 

ไทยมีข้อกฎหมายในมาตรา 123/3(มาตรา 150 ป อาญา) กำหนดว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ กระทาการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดซึ่งตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับไว้ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งตำแหน่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงยี่สิบปี หรือจาคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท”
 

ไทยมีกฎหมายมาตรา 123/4(มาตรา 143 ป อาญา) “ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ โดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายหรือโดยอิทธิพลของตน ให้กระทาการหรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด ต้องระวางโทษจาคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
 

ไทยมีกฎหมายที่กำหนดฐานความผิดสาหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่ ในมาตรา 123/5(มาตรา 144 ป อาญา) บัญญัติว่าผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจาคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลใดและกระทำไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้นโดยนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดนั้น นิติบุคคลนั้นมีความผิดตามมาตรานี้ และต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าแต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ
 

บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลตามวรรคสอง ให้หมายความถึง ลูกจ้าง ตัวแทน บริษัทในเครือ หรือบุคคลใดซึ่งกระทำการเพื่อหรือในนามของนิติบุคคลนั้น ไม่ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ในการนั้นหรือไม่
 

กฎหมายที่แก้ไขใหม่ มาตรา 123/5 วรรค 2 กำหนดให้มีฐานความผิดเฉพาะสำหรับนิติบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่ขึ้น เนื่องจากผลโยชน์ที่เกิดจากการให้สินบน เช่น การได้รับสัมปทาน หรือโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ แท้จริงแล้วผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการติดสินบนดังกล่าวก็คือนิติบุคคลนั้นเอง
 

กฎหมายใหม่ยังกำหนดให้นิติบุคคลมีความผิดถ้าคนที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคล เช่น ลูกจ้าง ตัวแทน ได้ให้สินบนเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ไทยหรือต่างประเทศ และทำไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น โดยนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกัน โดยมีการกำหนดโทษเป็นโทษปรับเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของนิติบุคคลที่ไม่อาจรับโทษจำคุกได้ โดยมีอัตราโทษปรับจากค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่นิติบุคคลนั้นได้รับ
 

ซึ่งกรณีที่เป็นการให้สินบนในโครงการขนาดใหญ่อาจทำให้มีโทษปรับทางการเงินเป็นจำนวนหลายร้อยล้านบาท โดยมาตรการลงโทษทางการเงินนี้จะทำให้รัฐได้รับการเยียวยาความเสียหาย เพื่อเอาประโยชน์ที่นิติบุคคลไม่ควรได้กลับคืน และเพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำความผิดมาตรา 123/5 จะมีส่วนช่วยในการป้องกันการทุจริต เพราะจะบังคับให้แต่ละบริษัทต้องมีมาตรการป้องกันคนของตัวเองไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐของไทยหรือต่างชาติ เพราะไม่เพียงผู้ให้สินบนจะถูกจำคุกไม่เกิน 5 ปี บริษัทยังจะถูกปรับในอัตรา 1-2 เท่าของผลประโยชน์ที่ได้รับ เช่น โครงการที่ได้จากการจ่ายสินบนมีมูลค่าเท่าใด ก็อาจจะถูกปรับ 2 เท่าของมูลค่าโครงการนั้น
 

ตัวบทกฎหมายจะเป็นเพียงข้อห้ามที่เขียนไว้ให้คนกลัวเท่านั้น หากเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน มิใช่ปล่อยให้ใครต่อใครที่มีอิทธิพล มีอำนาจเงินตรายืนอยู่เหนือกฎหมาย แต่ตาสี ตาสา ประชาชนทั่วไปกลับโดนคดีกันถ้วนหน้า
 

การจ่ายสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐในคดีนี้ จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจ ไม่ใช่เพียงแค่คนในครอบครัว “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เพียงอย่างเดียว!