จัดระเบียบประเทศไทย ให้รอดมหาวิกฤติโควิดโลก

14 พ.ค. 2563 | 06:25 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

 

มหาวิกฤติโควิดโลกที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ไม่เป็นเพียงแต่วิกฤตการณ์ทางสาธารณสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในรอบศตวรรษเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดมหาวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นับจาก The great depression

การแพร่ระบาดของ Covid-19 จุดชนวนวิกฤติปัญหาทางเศรษฐกิจที่สะสมมานานนับ 10 ปีของระบบเศรษฐกิจหลักของโลก รัฐบาลไทยต้องจัดระเบียบประเทศเพื่อรับมือกับมหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และการเมืองระดับโลกจากความยืดเยื้อของวิกฤติโควิดที่เพิ่มมากขึ้น ระหว่างรอการค้นพบวัคซีนใน 18-24 เดือนข้างหน้า อันจะก่อให้เกิดวิกฤติทางการคลังพร้อมกันทุกประเทศทั่วโลก ด้วยการยกระดับการบริหารระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย และบทบาททางการเมือง ให้ประเทศไทยสามารถรอดจากมหาวิกฤตินี้ได้

ดังที่เห็นได้จากการพิมพ์เงินดอลลาร์ ที่ไม่มีมาตรฐานทองคำรองรับ อย่างไม่จำกัดเพดานวงเงิน (unlimited QE) ของสหรัฐอเมริกา และจากงบดุลของ FED ในเดือนเมษายน ปี 2563 ซึ่งสูงถึง 6.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 180 ล้านล้านบาท) ซึ่งมากกว่า 3 เท่าของวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (งบดุลขณะนั้นอยู่ที่ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 66 ล้านล้านบาท) และขณะนี้กระทรวงการคลังสหรัฐฯได้ออกพันธบัตรเพื่อพยุงเศรษฐกิจเป็นจำนวน 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (อีกราว 100 ล้านล้านบาท) สำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 2563

กลุ่ม EU พิมพ์เงินยูโรมากกว่าปีที่แล้วถึงหกเท่า (1.2 แสนล้านยูโร หรือราว 42 ล้านล้านบาทต่อเดือน) อีกทั้งการโอนถ่ายเงินกลับประเทศจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging markets) ซึ่งสถิติของ IMF พบว่าในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 มียอดการดึงเงินกลับสูงกว่าตอนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ถึง 3 เท่า เป็นจำนวนถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3 ล้านล้านบาท)

เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดทั่วโลกของ Covid-19 เพียง 2 เดือนเท่านั้น อันแสดงถึงความต้องการใช้เงินสดอย่างมากมหาศาล เพื่อคํ้าจุนระบบเศรษฐกิจทั้งภาครัฐ เอกชน และดูแลประชาชน หากการแพร่ระบาดยังดำเนินต่อไปอีก 6-18 เดือนความต้องการใช้เงินสด และสถานการณ์ทางการคลังของทุกประเทศทั่วโลกจะเป็นเช่นไร?

 

จัดระเบียบประเทศไทย  ให้รอดมหาวิกฤติโควิดโลก

 

การที่ทั้งภาครัฐและเอกชนมีแต่รายจ่าย และหนี้สินเพิ่มพูนต่อเนื่องระหว่างการรอวัคซีนทั่วโลกเช่นนี้ ทำให้มีแนวโน้มสูงที่นักลงทุนนานาชาติจะรุมเทขายหุ้นและพันธบัตรไทยจำนวนมหาศาลในอนาคตอันใกล้ และเทขายเงินบาทที่ได้เป็นเงินดอลลาร์ และเงินยูโร เพื่อนำไปใช้หมุนเวียนในประเทศตนเป็นจำนวนมหาศาล อันเป็นการทำลายทั้งตลาดหุ้น และตลาดเงินไทย โดยทำให้ดัชนีตลาดหุ้นร่วงลง และค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าอย่างมิอาจควบคุมได้ ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนไทยขาดแคลนกระแสเงินสดในการพยุงธุรกิจ และประเทศชาติ

เพื่อปกป้องประเทศไทยไม่ให้เกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจและสังคม (Domino effects) ตามกลุ่มประเทศเหล่านั้นไปด้วย รัฐบาลควรมีมาตรการในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยดังต่อไปนี้

 

1. รัฐบาลควรสงวนงบประมาณให้แก่ส่วนของเศรษฐกิจและสังคมที่ก่อประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศ รวมทั้งงดสนับสนุนงบประมาณแก่ภาคส่วนเศรษฐกิจทั้งภาครัฐ (วิสาหกิจ) และเอกชนที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม โดยให้บริษัทแปลงหนี้เป็นทุนหรือให้กลุ่มทุนอื่นเข้าดำเนินการเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมมีประสิทธิภาพสูงสุด

2. ดำเนินนโยบายการคลังเชิงรุกด้วยการออกพันธบัตรระยะยาว 10-50 ปี เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังและสภาพคล่องให้แก่รัฐบาล (เช่นเดียวกับที่รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกพันธบัตรระยะ 50 ปี)

3. จำกัดเพดานวงเงินในการถ่ายโอนเงินระหว่างประเทศ และการขายพันธบัตรในประเทศ รวมทั้งกำหนดค่าระดับดัชนีในการปิดตลาดหุ้น เช่น 700-900 จุด (เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย market capitalization ถึง 50-75% ราว 7-10 ล้านล้านบาท เช่นในครั้งวิกฤติต้มยำกุ้ง) และการดำเนินการนี้ควรแจ้งกระทรวงการคลังประเทศมหาอำนาจล่วงหน้า เพื่อไม่ให้มีปัญหาภายหลัง

และยุติการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ทางธุรกิจของ SMEs และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรง (อาจด้วยการเคลียร์หนี้และค่าใช้จ่ายของทุกธนาคารโดยจำหน่ายพันธบัตรแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อโอนปิดยอดหนี้ ค่าใช้จ่ายบริหารที่จำเป็นและดอกเบี้ยดังกล่าว) เพื่อให้ค่าเงิน ตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ และสถาบันการเงินของประเทศมีความมั่นคงตราบจนมหาวิกฤตินี้สิ้นสุด

4. พัฒนาการใช้ digital baht แยกรหัสตามวัตถุประสงค์ โดยใช้แต่ภายในประเทศ (เช่นที่ประเทศจีนกำลังดำเนินการขณะนี้) เพื่อลดภาระทางการคลัง และเสนอให้สมาชิกในกลุ่ม ASEAN5+3 มีฉันทานุมัติในการนี้ เช่น แยกรหัสเป็น e-food coupon (มี daily expiry date) ไปยังประชาชน ในหัวเมืองใหญ่ที่ขาดแคลนได้อย่างทั่วถึงถูกต้องและทันเวลา

ส่วนในต่างจังหวัดให้ทำการแจกคูปองระบุวัตถุประสงค์ เช่น ใช้แลกอาหาร เครื่องประกอบอาชีพทางการเกษตรและปศุสัตว์ และเวชภัณฑ์ได้ โดยผ่านทางผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. เป็นต้น และออกแบบให้คูปองนี้สามารถแลกใช้กับหน่วยธุรกิจการค้าที่ขึ้นทะเบียน prompt pay ได้

5. จัดระเบียบเศรษฐกิจ ด้วยการควบคุมโครงสร้างต้นทุนและโครงสร้างราคาของอาหาร และสินค้าจำเป็น เช่น ยา ปุ๋ย และเครื่องมือในอุตสาหกรรมการเกษตรให้มีความชอบธรรม (เช่น ข้าวเปลือกออกจากนาเกษตรกรควรได้ราคาเท่าใด โรงสีข้าวควรได้ค่าสีและกำไรเท่าใด ข้าวสารถึงมือผู้บริโภคราคาเท่าไร เป็นต้น)

เพราะรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายผ่านการออกพันธบัตร และชำระเงินสดบางส่วนเพื่อให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ใน supply chains ทางด้านอาหาร และอุตสาหกรรมการเกษตรระดับประเทศดำเนินการต่อไปได้

 

 

6. จัดระเบียบสังคม โดยใช้ platform ทางเทคโนโลยีร่วมสมัย เพื่อใช้ในการติดตามตัวและสนับสนุนการทำงานของแพทย์ในการตรวจสอบประวัติย้อนกลับ(ก่อนที่จะมี หรือ)ในกรณีมีการระบาดรอบที่ 2 เพื่อสนับสนุนการทำ Strict social distancing ให้ การเปิดเมืองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องยั่งยืน

7. จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการเศรษฐกิจและสังคมฉุกเฉินแห่งประเทศไทย (ศบศ.) เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบเศรษฐกิจใหม่ในภาวะวิกฤตินี้ด้วยความฉับไวและเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง โดยเชื่อมโยง ศบศ. กับกลุ่มมืออาชีพเฉพาะทางระดับประเทศ ให้เป็นเสมือนศูนย์คลังสมองของประเทศ

โดยสร้างห้องประชุม/สัมมนาทาง social media ตามวาระจำเป็นเร่งด่วน และตามวาระการวิจัยแห่งชาติที่สภาวิจัยแห่งชาติกำหนด โดยให้คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน และหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น หัวหน้าชุมชน (กรณีเป็นวาระในท้องที่) ร่วมกันคัดเลือกสมาชิกหลักในแต่ละห้อง (โดยมีค่าตอบแทนตามคุณภาพและคุณลักษณะของงานทั้งประเด็นและแนวทางแก้ไข) เข้าร่วมรับรู้ปัญหาในการบริหารประเทศ และช่วยกันแสวงหาคำตอบร่วมกับ ศบศ.

อันเป็นการผันสมองก่อนผันงาน-ผันเงิน เพื่อร่วมกันสร้าง end-to-end solutions ที่เหมาะสมที่สุด ในการพัฒนาประเทศในระยะยาว 

 

บทความโดย... ดร.ไพทัน ตระการศักดิกุล, ตระการ ไตรพิเชียรสุข

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,574 หน้า 10 วันที่ 14 - 16 พฤษภาคม 2563