climatecenter

วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร เมื่อโลกใบนี้ร้อนเกินไป

    “เมื่ออุณหภูมิของโลกยังคงเพิ่มขึ้น อาจสร้างความเสียหายต่อระบบผลิตอาหารและห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น จึงนำไปสู่ความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหาร ทำให้ภาวะโภชนาการไม่เพียงพอต่อสิ่งมีชีวิต”

อาหาร คือ ปัจจัยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ซึ่งยังมีประชากรโลกจำนวนมากที่ต้องเผชิญต่อความอดอยาก ขาดแคลนอาหาร จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอาจรุนแรงถึงชีวิต และการขาดแคลนทางอาหารนั้นจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วย หลังจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัจจุบันกำลังคุกคามความมั่นคงทางอาหารทั่วโลก รวมถึงสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงสุดขั้ว เกิดคลื่นความร้อน ภัยแล้ง แผ่นดินไหว และน้ำท่วม ทำลายผลผลิตทางการเกษตร ระบบนิเวศ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารที่เคยสมดุล

ปัจจุบัน ‘ความมั่นคงด้านอาหาร’ กลายเป็นปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่หลายประเทศกำลังเผชิญ ทำให้ขีดความสามารถในการผลิตอาหารลดลง แต่ราคาอาหารพุ่งสูง และผู้คนเสี่ยงอดอยาก ซึ่งผลกระทบดังกล่าว อาจทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นอีกในอนาคต โดยอาจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ในปี 2593 ทำให้ประชากรกลุ่มเปราะบางเข้าถึงอาหารได้ยากลำบากยิ่งขึ้น และอาจนำไปสู่ภาวะอดอยากและขาดสารอาหารในวงกว้าง

ความมั่นคงทางอาหารคืออะไร?

ตามคำนิยามขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ความมั่นคงทางอาหาร หมายถึง สภาวะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการได้ตลอดเวลา โดยครอบคลุม 4 มิติ ดังนี้

  • การมีอาหารเพียงพอ: มีอาหารคุณภาพดีในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ
  • การเข้าถึงอาหาร: ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเท่าเทียม
  • การใช้ประโยชน์จากอาหาร: ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การมีเสถียรภาพด้านอาหาร: การเข้าถึงอาหารมีความมั่นคง ไม่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลน

โดยรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ชี้ให้เห็นว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นเกิน 1.5°C จะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารที่รุนแรงยิ่งขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรจะลดลง ราคาอาหารจะสูงขึ้น และประชากรกลุ่มเปราะบางจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

หากจะกล่าวถึง ประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และศักยภาพในการผลิตอาหารสูง แต่ก็ยังมีความท้าทายในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ดัชนีความมั่นคงทางอาหารของไทยก็ปรับลดลง สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางทางความมั่นคงด้านอาหาร ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันรับมือกับวิกฤตนี้ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกัน โดยมีแนวทางแก้ไข ดังนี้

  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก: เปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้พลาสติก
  • ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน: ลงทุนในการพัฒนาพันธุ์พืชที่ทนทานต่อสภาพอากาศ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ลดขยะอาหาร: วางแผนการบริโภค บริจาคอาหารส่วนเกิน
  • สร้างความตระหนัก: ให้ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการและการบริโภคที่ยั่งยืน

วิกฤตความมั่นคงทางอาหารเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ดังนั้น การรับมือกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงด้านอาหารในสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทุกวันนี้ อาจต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อวางแผน กลยุทธ์ ที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ โดยมีการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดี ส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน และสร้างความคล่องตัวในการรับมือกับภัยธรรมชาติ ซึ่งอาจเป็นวิธีที่ดีในการแก้ไขปัญหาวิกฤติความมั่นคงด้านอาหารได้ในอนาคต

 

ที่มา : https://www.nsm.or.th/nsm/index.php/th/node/6302

: https://www.isranews.org/article/isranews-article/120771-isra-78.html

: https://www.sdgmove.com/2021/05/11/sdg-vocab-food-security/

: https://www.nstda.or.th/sci2pub/global-climate-change-and-food-security/