climatecenter

จัดการ Food waste ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทางรอดสู่ความยั่งยืน

    ปัจจุบันมีอาหารมากถึง 1 ใน 3 ส่วนของอาหารที่ผลิตได้ทั้งหมดถูกทิ้งกลายเป็น “ขยะอาหาร” โดยคิดเป็นน้ำหนักกว่า 1.3 พันล้านตันทั่วโลกทุกปี ซึ่งสถานการณ์ปริมาณขยะอาหารในแต่พื้นที่แตกต่างกันออกไปตามปัจจัยการผลิต การจัดการภายในห่วงโซ่อาหาร และพฤติกรรมของผู้บริโภค ​

Food Waste คือ เศษอาหารที่ถูกทิ้ง อาหารที่หมดอายุ หรือของเสียที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการผลิต การจัดจำหน่าย หรือการบริโภค โดยที่ไม่มีการนำไปใช้เพื่อการบริโภคที่ถูกต้องจนกลายเป็นขยะอาหาร โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในภาคครัวเรือน ธุรกิจอาหาร หรือระดับอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งหากจะกล่าวถึงแหล่งกำเนิดปริมาณขยะอาหารที่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทาน อุตสาหกรรมอาหารก็เป็นภาคส่วนหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดปริมาณขยะอาหารที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมากเช่นกัน

อุตสาหกรรมอาหาร ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายประการ ตั้งแต่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปจนถึงการสร้างขยะอาหารจำนวนมหาศาล ซึ่งหนึ่งในปัญหาใหญ่ของอุตสาหกรรมอาหาร คือ ขยะอาหาร (Food Waste) ที่เกิดขึ้นได้ตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูป การขนส่ง จนถึงการบริโภค เมื่อขยะอาหารจากกระบวนการผลิตเหล่านี้ ถูกทิ้งลงบนหลุมฝังกลบ อาจก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนสูงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหา Food Waste ในอุตสาหกรรมอาหาร จะต้องวางแผนระบบให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดปริมาณขยะอาหารที่เกิดขึ้นหรือจัดการกับของเสียจากอาหารอย่างถูกต้อง

การเกิด Food Waste ในอุตสาหกรรมอาหาร สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตลอดห่วงโซ่อุปทานของอาหาร ตั้งแต่การเก็บเกี่ยว หากมีการเก็บเกี่ยวที่ไม่ถูกต้องอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการสูญเสียอาหารตั้งแต่ในฟาร์มเพาะปลูก หรือผลผลิตที่มีรูปลักษณ์ไม่สมบูรณ์แบบ มีขนาดและรูปร่างไม่ตรงตามมาตรฐานหรือตามที่ตลาดต้องการ แม้ว่าจะผลผลิตนั้นจะปลอดภัยและมีคุณภาพดี ก็มักจะถูกคัดทิ้งตามมาตรฐาน หรืออาจมีการปนเปื้อนและปริมาณสารเคมีตกค้าง จึงทำให้ถูกทิ้งกลายเป็นขยะอาหารไปตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวนี้ ในส่วนของการผลิต หากไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่ได้มีการวางแผนในโรงงานแปรรูปอาหาร จึงทำให้เกิด Food Waste ในขั้นตอนนี้จากการตัดแต่งวัตถุดิบที่ไม่ได้ใช้งานทิ้งหรือตัดแต่งเกินความจำเป็นในการใช้งาน รวมถึงการบรรจุหีบห่อที่ไม่ได้คุณภาพ ตลอดจนการผลิตสินค้าเกินความต้องการของตลาด อาจทำให้ผลิตสินค้าเกินความจำเป็น จนส่งผลให้สินค้าคงคลังล้นหรือสต๊อกสินค้าไว้นานจนเกิดเสื่อมสภาพ แล้วถูกนำไปทิ้งเพราะจำหน่ายไม่หมดนั่นเอง ส่วนการจัดเก็บและการขนส่ง โดยเฉพาะสินค้าที่ถูกจัดเก็บในคลังสินค้าแบบไม่ถูกวิธี อาจทำให้อาหารเน่าเสียเป็นขยะอาหารก่อนเวลาอันสมควร รวมถึงการบริหารจัดการสินค้าคงคลังที่ไม่มีประสิทธิภาพอาจทำให้มีสินค้าที่หมดอายุถูกทิ้งไปก่อนที่จะถูกวางจำหน่าย ตลอดจนการขนส่งสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานจนทำให้เกิดความเสียหายระหว่างการขนส่งได้

จากสาเหตุดังกล่าว จึงต้องมีแนวทางแก้ไขปัญหาขยะอาหารเหล่านี้ โดยการลดการผลิตอาหารที่เกินความต้องการอุตสาหกรรมอาหารควรปรับปรุงระบบการคาดการณ์ความต้องการของตลาด เพื่อผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการจริง การปรับเปลี่ยนมาตรฐานความงามของอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคยอมรับอาหารที่มีรูปลักษณ์แตกต่างกันไป การให้ความรู้เกี่ยวกับวันที่หมดอายุ โดยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับความหมายของวันที่หมดอายุ รวมทั้งการปรับปรุงระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทาน พัฒนาเทคโนโลยีในการติดตามและควบคุมอุณหภูมิและความชื้นตลอดกระบวนการขนส่ง และส่งเสริมการบริโภคอาหารอย่างยั่งยืน โดยการสร้างจิตสำนึกให้ผู้บริโภคตระหนักถึงปัญหาขยะอาหาร และส่งเสริมให้ลดการซื้ออาหารเกินความจำเป็น

 

ที่มา : https://ngthai.com/science/40756/food-waste-food-loss/

: https://foodindustry.kmitl.ac.th/th/xutsahkrrmxahar

: https://sciplanet.org/content/8436

: https://vgreenku.com/knowledge/food-waste-management-article-1/

: https://www.cogistics.co.th/th/blog/knowledge/food-waste-%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3/