‘กุดั่นฯ’ รุกขยายธุรกิจ รองรับการเติบโต ธุรกิจกิจกรรมทางกฎหมาย 3 หมื่นล้าน

07 ธ.ค. 2565 | 11:57 น.

ธุรกิจกิจกรรมทางกฎหมาย หนึ่งในธุรกิจที่น่าจับตาในช่วงโควิด -19 โดยกระทรวงพาณิชย์มีตัวเลขการจัดตั้งธุรกิจใหม่เติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 มีรายได้ธุรกิจเฉลี่ย 3 ปี กว่า 30,000 ล้านบาท แปรผันตามยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่ และจำนวนคดีความที่เข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล

ทิศทางการเติบโตของธุรกิจกิจกรรมทางกฎหมาย และความหลากหลายของปัญหาผู้ใช้บริการคือความท้าทายที่ทำให้ “คุณบี-ธัญลักษณ์ ทองร่มโพธิ์” ทนายความหุ้นส่วน บริษัท กุดั่น แอนด์ พาร์ทเนอร์ จำกัด เลือกที่จะออกประกอบธุรกิจด้านกฎหมายที่ร่ำเรียนมา แทนที่จะทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ของครอบครัว 
 

“กฎหมายมันอยู่คู่กับทุกธุรกิจ จะเริ่ม จะเลิก จะถูกฟ้องร้อง กฎหมายก็ต้องมาดูแล เราเรียนกฎหมายมา ก็ลองไปทำดู พอทำก็พบว่ามันท้าทายมาก ได้เจออะไรใหม่ๆ ตลอด มันเป็นอาชีพที่ใช้สมอง”
 

“ธัญลักษณ์” เล่าว่า ธุรกิจสำนักงานกฎหมายของกุดั่นฯ เป็นการรวมตัวกันของ 15 พาร์ทเนอร์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน 15 คน ที่เข้ามาเป็นเฮดของแต่ละทีม ทำให้กุดั่นฯ สามารถให้บริการด้านกฎหมายได้หลากหลายอุตสาหกรรมทั้งไทยและต่างชาติ และยังมีฝ่ายกฎหมายสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ  
 

กุดั่นฯ เติบโตอย่างรวดเร็ว จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว มีทีมงานราว 10-20 คน ปัจจุบันขยายทีมแล้วเกือบ 100 คน วิธีการที่ทำให้กุดั่นฯ มีทีมที่แข็งแกร่ง ให้บริการด้านกฎหมายได้ครอบคลุม เกิดจาก business mind ของทีมที่ไม่ใช่เพียงมีความรู้ด้านกฎหมาย แต่บริษัทมีการเทรนนิ่งความรู้ในธุรกิจของลูกค้าให้กับทีม เพื่อให้สามารถเข้าใจธุรกิจและความต้องการของลูกค้าอย่างถูกต้อง หลังจากนั้นคือการนำความรู้ทางกฎหมายเข้าไปจับ ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

“เวลาเราดูแลลูกค้า เราดูแลเหมือนเป็นธุรกิจของเราเอง เมื่อลูกค้ามีปัญหา เราจะคิดว่า ถ้าเรามีปัญหาเช่นนี้ จะแก้ไขได้อย่างไร”
 

สำหรับเป้าหมายของกุดั่นฯ “ธัญลักษณ์” กล่าวว่า ภายใน 3 ปี กุดั่นฯ มีแผนขยายทีมไปถึงกว่า 150 คน และ 200 คนในอนาคต พร้อมๆ กับขยายบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะการตอบรับกับเทรนด์ใหม่ๆ เช่น บริการที่รองรับงานด้านดิจิทัล  หรือการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศ 
 

นอกจากนี้ จากการขยายการลงทุนของไทยและต่างชาติ หลังโควิดคลี่คลาย ทำให้มีกลุ่มลูกค้าต่างชาติ อาทิ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 กุดั่นฯ ได้เปิดฝ่าย Japan Practice ให้บริการด้านกฎหมายสำหรับญี่ปุ่น เพื่อเจาะตลาดนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในไทยเป็นพิเศษ

 

เมื่อสถานการณ์ทั่วไปดีขึ้น นักลงทุนเข้ามาลงทุนมากขึ้น พาร์ทเนอร์แต่ละสาย จะพยายามเติมความรู้เพิ่ม อัพเดททั้งความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น รวมทั้งการสร้าง Young Generation เข้ามาตอบโจทย์การทำงานโลกยุคใหม่ 
 

“ธัญลักษณ์” ทิ้งท้ายว่า ธุรกิจนี้ความท้าทาย คือ ความหลากหลายในเนื้องาน เพราะลูกค้าทุกรายมีปัญหาเขาถึงเดินมาหานักกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้ารายเดิมหรือรายใหม่ ปัญหามันจะแตกต่างไปตลอดเวลา เราจะได้เรียนรู้ปัญหาใหม่ๆ และมีความสุขเมื่อสามารถแก้ปัญหาให้เขาได้ ธุรกิจของเขาสามารถเดินหน้าได้อย่างถูกกฎหมาย
 

นี่คือเหตุผลที่ “ธัญลักษณ์ ทองร่มโพธิ์” เลือกที่จะยึดอาชีพนักกฎหมาย และเติบโตในงานสายกฎหมายที่เธอชื่นชอบต่อไป 


หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,842 วันที่ 8 - 10 ธันวาคม พ.ศ. 2565