iFCG กับ 2 คีย์ซัคเซส คนทำธุรกิจ ‘คอนเนคชั่นและความน่าเชื่อถือ’

06 พ.ย. 2565 | 02:30 น.

นักธุรกิจฟินเทคอีกคนหนึ่งที่มาแรงในยุคที่โควิดระบาด “วิทูร เลิศพนมวรรณ” หรือ “เอ- iFCG” ประธานบริหาร บริษัท iFCG ที่ปรึกษาทางธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ ที่สามารถนำพาองค์กรให้เติบโตฝ่าวิกฤตมาได้อย่างสวยงาม

“คุณเอ” เปิดบริษัทที่ปรึกษาการเงินการลงทุนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และมาเปิดบริษัท iFCG เมื่อ 13 ปีก่อนด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท ด้วยการรับเป็นที่ปรึกษาส่วนบุคคลและคอร์ปอเรท เขาบอกว่า การเปิดธุรกิจนี้ต้องคิดตั้งแต่เริ่มต้นว่า ตัวเองกำลังจะเข้ามาแข่งขันกับแบงค์ บล. บลจ.มากมาย เพราะฉะนั้นต้องศึกษาดูว่า จะทำอย่างไรให้ธุรกิจสู้เจ้าใหญ่ได้
 

นั่นก็คือ ต้องไปศึกษาตลาดภาพรวม และต้องดูว่าตรงไหนเป็นตลาดที่จะเข้าไปเล่นได้ ตลาดตรงไหนที่รายใหญ่เขาไม่เล่น และตรงไหนที่เป็นจุดแข็งของเรา ช่องทางไหนที่เราจะสร้างให้เกิดได้

จากการคิดและศึกษาตลาด ทำให้ iFCG ค้นพบตัวเอง จนเกิดเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ ที่ “คุณเอ” นำประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมการเงินกว่า 20 ปี และพื้นธุรกิจประกันของครอบครัว มาผสมผสาน จนทำให้เขาได้กลายเป็นคนไทยคนแรกที่ดำรงตำแหน่งตัวแทน MDRT ของภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ดูแลทุกประเทศในโซนเอเซีย และเป็น Divisional Vice President ในปี 2015 พร้อมทั้งได้รับเชิญเป็นวิทยากรทางด้านการเงิน การประกัน การบริหาร การขายและการตลาด และไตรมาส 3 ปี 2566 จะเข้านำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
 

ซีอีโอ iFCG เล่าว่า สิ่งที่เขาทำ คือ การมองหาช่องทางที่จะสามารถสร้างโอกาสให้กับตัวเอง ด้วยการศึกษาหา Pain Point แล้วแก้ Pain Point นั้นให้ได้ หรือในธุรกิจที่ปรึกษาด้านการเงิน เรื่องความน่าเชื่อถือ และคอนเนคชั่นที่ดีเป็นเรื่องจำเป็น ลูกค้าที่ลงทุน 7-10 ตัว เมื่อมันมีตัวหนึ่งที่เสีย เราต้องชัวร์ว่าเราคัฟเวอร์ให้เขาได้ ต้องบริหารจัดการเรื่องพวกนี้ และสื่อสารเป็นประจำ
 

“นโยบายส่วนตัว คือ ทุกการลงทุนที่บริษัททำ ทุกตัวเราจะเป็นลูกค้าคนแรกเสมอ เพราะฉะนั้นเมื่อลูกค้าเจ็บตัวจากการลงทุน นั่นหมายความว่า ถ้าลูกค้าเจ็บเราเจ็บด้วย”...นั่นเป็นวิธีการสร้างความเชื่อมั่น และความน่าเชื่อถือ ให้กับ iFCG ซึ่งซีอีโอคนนี้ย้ำว่า “ความน่าเชื่อถือ และคอนเนคชั่น” เป็นเรื่องสำคัญมากๆ สำหรับคนทำธุรกิจ
 

ส่วนการลงทุนโครงการ Phill Collection กับ 2 พาร์ทเนอร์ต่างธุรกิจ “จิรัฐ บวรวัฒนะ” จากวงการสื่อและเอ็นเตอร์เทนเมนท์ และ “ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” วงการเทคโนโลยี สตาร์ทอัพ เปิดบริษัท ครีเอทีฟ ไลฟ์สไตล์ เวนเจอร์ จำกัด (Creative Lifestyle Ventures-CLV) สร้างโมเดลธุรกิจ Lifestyle Club ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพัทยา เจาะกลุ่มนักธุรกิจและคนรุ่นใหม่ ชื่อ “Phill Club” ภายใต้ Phill Collection
 

“คุณเอ” เล่าว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากความต้องการของเขาและ จิรัฐ ที่ต้องการซื้อเรือยอร์ช เพราะเป็นคนชอบเดินทางทั้งคู่ แต่ด้วยความคิดต่าง หากนำเรือที่อยากซื้อมาสร้างเป็นธุรกิจ ที่มีคริปโต หรือ NFT เข้ามาเกี่ยวข้อง แบบนั้นน่าจะดีกว่าหรือเปล่า และถือเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่น่าสนใจด้วย จึงมีการพูดคุยกับพาร์ทเนอร์ที่ 3 คือ ณัฐวุฒิ และสร้างเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ขึ้นมา
 

“ผมอยู่ในโลกการเงิน มันมีวิธีการลงทุนหลายอย่าง แต่คริปโตมันเป็นอีกโลกหนึ่ง เราอยากเข้าใจโลกนี้ ก็เลยศึกษาไว้ ก็มาคุยและแลกเปลี่ยนกัน และแบ่งหน้าที่กันทำชัดเจน ซึ่งอนาคตจะขยายบริการไปทั้งที่เชียงใหม่ และจะไปต่างประเทศ เช่น ที่ญี่ปุ่น”
 

“คุณเอ” บอกว่า การสร้างธุรกิจและจะเดินหน้าทำให้ธุรกิจสร้างรายได้ เรื่องสำคัญคือ โมเดลธุรกิจต้องใช่ เวลาต้องเหมาะ และพาร์ทเนอร์ชิพต้องถูกต้อง นอกจากนี้ การสร้างความน่าเชื่อถือ และคอนเนคชั่นที่ดี จะช่วยเสริมสร้างธุรกิจให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น
 

วิธีคิดในการสร้างธุรกิจของ “คุณเอ” มองเรื่องพาร์ทเนอร์เป็นสิ่งสำคัญ เขามองว่า เราสามารถสร้างเกมใหม่ที่ทุกคนในอีโคซิสเต็มเป็นพาร์ทเนอร์กันได้ ถ้าทำได้ เกมธุรกิจนี้ เล่นได้ยาวแน่นอน

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,832 วันที่ 3 - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565